จุดใดบ้างที่ศาลฎีกาใช้วินิจฉัย การลงชื่อร่วมในสินสมรส
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและโจทก์เป็นสามีภริยากัน โดยทำการสมรสก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และอยู่กินฉันสามีภริยาตลอดมาทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยที่คงเหลืออยู่ปัจจุบันมีที่ดินโฉนดเลขที่ 76774 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และที่ดินโฉนดเลขที่4786 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางทองปลิวศิริสัมพันธ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 76774 เป็นโฉนดที่ดินใหม่ ซึ่งแบ่งจากโฉนดเลขที่ 1464 จำเลยได้รับจดทะเบียนการให้จากนายคล้ายเสือประดิษฐ์ นางแช่ม คงปราง และนางย้อย อยู่อาสา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่4786 จำเลยได้รับจดทะเบียนโดยทางมรดกจากนางเป๊ะ ดิษธรรมที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรส โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอให้โจทก์ลงชื่อเป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยทั้งสองแปลงหากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยและโจทก์ต่างได้รับการยกให้ที่ดินจากบิดามารดาของแต่ละฝ่าย และต่างใช้สิทธิจัดการที่ดินโดยมิได้ก้าวก่ายกัน ภายหลังโจทก์ขายที่ดินของตนซึ่งได้รับการยกให้มาทั้งหมด ส่วนที่ดินของจำเลย จำเลยได้แบ่งขายบางส่วน ต่อมาทนายความของนางสาวประชุมบุตรโจทก์จำเลยได้ยื่นฟ้องจำเลยในนามของโจทก์เพื่อขอหย่าและขอให้แบ่งทรัพย์สินที่ดินรายนี้ โดยมีนางสาวประชุมเป็นผู้ดำเนินการ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ต่อมาทนายความคนเดียวกันได้ยื่นฟ้องในนามของโจทก์เพื่อขอให้ใส่ชื่อโจทก์ลงในที่ดินซึ่งจำเลยฟ้องขับไล่นางสาวประชุมโดยมุ่งหมายในประเด็นเดียวกันกับคดีฟ้องหย่า จึงเป็นฟ้องซ้ำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำเลยได้รับการยกให้จากบิดามารดาของจำเลยจึงเป็นสินเดิมของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมและกลายมาเป็นสินส่วนตัวของจำเลยโดยผลของมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พุทธศักราช 2519 โจทก์หามีสิทธิจะมาขอให้ใส่ชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยทั้งสิทธิของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์อยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยปกติสุข มิได้ถูกรบกวนหรือโต้แย้งสิทธิแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมลงในโฉนดที่ดินเลขที่ 76774 ตำบลบางซื่อ อำเภอดุสิต (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร และโฉนดที่ดินเลขที่ 4786 ตำบลบางซ่อนอำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่จัดการ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำแถลงของโจทก์จำเลยว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำเลยได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ที่ดินแปลงแรกจำเลยได้มาโดยการรับให้ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2489ที่ดินแปลงที่สองจำเลยรับโอนทางมรดกจากนางเป๊ะ ดิษธรรมซึ่งเป็นมารดาของจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม2496 การรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมิได้ระบุชัดแจ้งว่าให้แก่จำเลยเพื่อเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวหรือสินเดิม ทั้งโจทก์เคยฟ้องขอหย่าจำเลยต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยยังมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินแต่อย่างใดปัจจุบันจำเลยและโจทก์ยังคงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย…
จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ได้ความตามคำแถลงรับของโจทก์จำเลยว่า คดีก่อนนั้นโจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยและศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินแต่อย่างใด ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในสินสมรสประเด็นของคดีนี้จึงมีว่าทรัพย์ตามคำฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่และโจทก์มีสิทธิขอให้ลงชื่อเป็นเจ้าของรวมหรือไม่ อันมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาคดีก่อน การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ถูกโต้แย้งสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่าสิทธิของสามีหรือภริยาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1475 นั้นเป็นการที่กฎหมายกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่มีชื่อในเอกสารสำคัญให้ต้องยินยอมให้ฝ่ายนั้นลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมด้วย โจทก์กล่าวไว้ในฟ้องแล้วว่าได้มีหนังสือขอให้จำเลยจัดการให้โจทก์ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อ้างว่าเป็นสินสมรส จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้รับหนังสือดังกล่าวของโจทก์ กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทราบคำบอกกล่าวของโจทก์แล้วเพิกเฉย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทมิใช่สินสมรส โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้มาระหว่างสมรสและได้มาขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การที่จะพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใดในระหว่างสามีภริยาจึงต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา การรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของจำเลยนั้นมิได้ระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวหรือสินเดิม ดังนั้นการได้ที่ดินที่พิพาททั้งสองแปลงของจำเลยจึงเป็นการได้มาในฐานะที่เป็นสินสมรสตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1466 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้มา
จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทราบว่าจำเลยได้รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว เห็นว่า สิทธิของคู่สมรสที่จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารสำคัญตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 นั้น เป็นบทบัญญัติในหมวดทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา แสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ความเป็นสามีภริยายังมีอยู่คู่สมรสก็ยังมีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ตลอดเวลาไม่ว่าจะช้านานเท่าใด ในเมื่อโจทก์จำเลยยังเป็นภริยากันอยู่เช่นนี้ก็เป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิร้องขอให้ลงชื่อตนด้วยได้ตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้ล่วงเลยเวลาที่ได้สินสมรสมาแล้วนานเท่าไร เพราะมิใช่กรณีที่จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน
สรุป
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยและศาลมีคำพิพากษายกฟ้องโดยยังมิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินแต่อย่างใด ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในสินสมรสประเด็นของคดีนี้จึงมีว่าทรัพย์ตามคำฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่และโจทก์มีสิทธิขอให้ลงชื่อเป็นเจ้าของรวมหรือไม่ อันมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาคดีก่อน การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สิทธิของสามีหรือภริยาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1475 นั้น เป็นการที่กฎหมายกำหนดให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามคำร้องขอของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่มีชื่อในเอกสารสำคัญให้ต้องยินยอมให้ฝ่ายนั้นลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วมด้วย โจทก์กล่าวในฟ้องแล้วว่าได้มีหนังสือขอให้จำเลยจัดการให้โจทก์ลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อ้างว่าเป็นสินสมรส จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้รับหนังสือดังกล่าวของโจทก์กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทราบคำบอกกล่าวของโจทก์แล้วเพิกเฉยอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โจทก์จำเลยได้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาระหว่างสมรสและได้มาขณะที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม การที่จะพิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใดในระหว่างสามีภริยาจึงต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ได้มา การรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของจำเลยนั้นมิได้ระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวหรือสินเดิมจึงเป็นการได้มาในฐานะที่เป็นสินสมรสตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1466แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่ได้มา สิทธิของคู่สมรสที่จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารสำคัญตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1475 นั้น เป็นบทบัญญัติในหมวดทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตราบใดที่ความเป็นสามีภริยายังมีอยู่ คู่สมรสก็ยังมีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ตลอดเวลาไม่ว่าจะช้านานเท่าใด เมื่อโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่โจทก์ย่อมจะใช้สิทธิร้องขอให้ลงชื่อตนด้วยได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าได้ล่วงเลยเวลาที่ได้สินสมรสมาแล้วนานเท่าไร เพราะมิใช่กรณีที่จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ