- ทรัพย์สินที่ซื้อขาย ชำรุดบกพร่อง สั่งจ่ายเช็คมีความผิดทางอาญาหรือไม่
-
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขอให้นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนติดต่อกัน และนับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 2246/2542 และ 4899/2542 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องคดีทั้งสองสำนวนไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มรตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกระทงละ 24 วัน ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมจำคุก 5 กระทง มีกำหนด 120 วัน ปรับเป็นเงิน 25,000 บาท พิเคราะห์มูลเหตุแห่งการกระทำความผิดแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เมื่อรอการลงโทษแล้คำขอให้นับโทษต่อจึงให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยเบิกความอ้างว่าบ้านที่จำเลยซื้อชำรุดบกพร่อง จำเลยแจ้งให้โจทก์แก้ไขแล้ว แต่โจทก์แก้ไขไม่เรียบร้อย เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่บริษัทดังกล่าวไม่ได้ปลูกสร้างบ้านเต็มเนื้อที่ขาดไป 3 ตารางวา คิดเป็นค่าเสียหายรวมกันแล้วเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้งห้าฉบับ จำเลยจึงไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระให้โจทก์นั้น เห็นว่า ในเรื่องความชำรุดบกพร่องของบ้านดังกล่าวนอกจากจำเลยจะมีนางปทุม จันทกุล ผู้แนะนำจำเลยให้มาซื้อบ้านดังกล่าวและนางสาวสมศรี เอี่ยมอ่ำ ผู้เคยอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนแล้ว จำเลยยังมีนายสุรพงษ์ ปริยวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการบริหารบริษัทณัฐโรจน์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้มาร่วมตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของบ้านดังกล่าวเบิกความสนับสนุนว่า ได้มาตรวจสอบบ้านหลังดังกล่าวพบว่าชำรุดบกพร่องได้รับความเสียหาย โจทก์เองก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังจากจำเลยรับโอนที่ดินและบ้านแล้ว จำเลยแจ้งว่าบ้านหลังคารั่วมีรอยร้าวที่ผนังบ้าน โจทก์ได้ส่งช่างไปทำการซ่อมแซมแล้วและจำเลยเคยให้ทนายความมาติดต่อเรื่องค่าซ่อมแซมบ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์เพื่อนำไปหักกับจำนวนเงินที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คจำนวน 328,200 บาท หลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยอ้างว่าที่จำเลยไม่ชำระเงินตามเช็คเนื่องจากโจทก์ไม่ไปซ่อมแซมบ้านให้จำเลย ดังนี้แม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งเรื่องความชำรุดบกพร่องของบ้านไว้ในบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านที่จำเลยซื้อชำรุดบกพร่องและฝ่ายโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อยตามที่จำเลยนำสืบ เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันเช่นนี้ผู้ขายต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 488 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกเข้ารับสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านระหว่างบริษัทดังกล่าวกับจำเลยแต่อย่างใด และจำเลยสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าวและเป็นผู้กระทำการแทนบริษัทตลอดมา ยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า ในขณะทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้องโจทก์ได้รับรองว่า โจทก์จะซ่อมแซมความเสียหายทั้งหมดด้วยตนเองซึ่งก็มีเหตุผล และแม้เช็คพิพาททั้งห้าฉบับจำเลยจะสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินดาวน์ค่าที่ดินและบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านนั้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บ้านชำรุดบกพร่องโจทก์ไม่ซ่อมแซมให้เรียบร้อยจำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ดินและบ้านโดยไม่นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีเจตนาทุจริตและไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน
- สรุป
- บ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์ชำรุดบกพร่อง และโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านระหว่างบริษัทกับจำเลย และจำเลยสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวและเป็นผู้กระทำแทนบริษัทตลอดมา ทั้งในขณะทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์ได้รับรองว่าจะซ่อมแซมความเสียหายทั้งหมดด้วยตนเอง แม้เช็คทั้งห้าฉบับจำเลยจะสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินดาวน์ค่าที่ดินและบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้าน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านที่ชำรุดบกพร่องโจทก์ไม่ซ่อมแซมให้เรียบร้อย จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ดินและบ้านโดยไม่นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
ทรัพย์สินที่ซื้อขาย ชำรุดบกพร่อง สั่งจ่ายเช็คมีความผิดทางอาญาหรือไม่
Facebook Comments