Home บทความคดีแพ่ง มูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็ค ยังไม่มีหนี้ต้องชำระ สั่งจ่ายเช็คมีความผิดทางอาญาหรือไม่

มูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็ค ยังไม่มีหนี้ต้องชำระ สั่งจ่ายเช็คมีความผิดทางอาญาหรือไม่

1402

มูลหนี้ที่สั่งจ่ายเช็ค ยังไม่มีหนี้ต้องชำระ สั่งจ่ายเช็คมีความผิดทางอาญาหรือไม่

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายประสาน ประเสริฐวิทย์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2537 จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ร่วมจำนวน 115,009 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินและจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาหลังสวน สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระเงินตามสัญญากู้เงินแก่โจทก์ร่วมด้วย ตามเช็ค เมื่อเช็คถึงกำหนดจ่ายเงินโจทก์ร่วมนำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาปากน้ำชุมพร เพื่อเรียกเก็บเงิน แทนตามวิธีการของธนาคารปรากฏว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 บัญญัติว่า”ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ฯลฯเมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมายถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้นผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ”ดังนั้นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การออกเช็คที่มีมูลความผิดจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอยู่และเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย ประการต่อไปผู้ออกเช็คได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวโดยมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามอนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งของมาตรา 4 นั้นและผู้ทรงเช็คได้ยื่นเช็คต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมายและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นด้วยเหตุดังกล่าวก่อนอื่นต้องพิเคราะห์เสียก่อนว่า มูลหนี้ที่ก่อให้มีการทำสัญญากู้เงินมีอยู่หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้เห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานอันใดของโจทก์และโจทก์ร่วมบ่งชี้ว่าพี่สาวจำเลยยินยอมให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์ร่วมอ้างว่าพี่สาวจำเลยยักยอกไปแทนพี่สาวจำเลยทั้งคดีที่พี่สาวจำเลยถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของโจทก์ร่วมนั้น พี่สาวจำเลยก็ให้การปฏิเสธจนพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไปแล้ว แต่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องพี่สาวจำเลยต่อศาล ดังนั้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จึงไม่อาจฟังว่าพี่สาวจำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการ อันทำให้ต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วมเป็นเหตุให้ยังไม่มีหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ร่วมแทนพี่สาวจำเลยด้วยการทำสัญญากู้เงินของโจทก์ร่วม การที่จำเลยออกเช็คในคดีนี้มอบแก่โจทก์ร่วมตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จึงไม่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้มีอยู่จริง ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4

พิพากษายืน

สรุป

การออกเช็คที่มีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นั้นจะต้องปรากฏว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอยู่ และเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย และผู้ออกเช็คได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวโดยมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามอนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งของมาตรา 4 นั้น และผู้ทรงเช็คได้ยื่นเช็คต่อธนาคารเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมายและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น คดีนี้โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จำเลยต้องการชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมแทนพี่สาวจำเลยจึงทำเป็นสัญญากู้เงินโจทก์ร่วมเท่าจำนวนเงินที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกไป และออกเช็คมอบแก่โจทก์ร่วมเพื่อใช้หนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว แต่เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาว่าพี่สาวจำเลยยักยอกเงินของโจทก์ร่วม จึงไม่อาจฟังว่าพี่สาวจำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการอันทำให้ต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วม เป็นเหตุให้ยังไม่มีหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ร่วมแทนพี่สาวจำเลยด้วยการทำสัญญากู้เงินของโจทก์ร่วม การที่จำเลยออกเช็คในคดีนี้มอบแก่โจทก์ร่วมตามสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงไม่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4

Facebook Comments