Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ สาระสำคัญที่ศาลฎีกา วินิจฉัยคำฟ้องในฐานะและนิติสัมพันธ์ในคดีประกันภัยพิจารณาจากจุดใด

สาระสำคัญที่ศาลฎีกา วินิจฉัยคำฟ้องในฐานะและนิติสัมพันธ์ในคดีประกันภัยพิจารณาจากจุดใด

1073

สาระสำคัญที่ศาลฎีกา วินิจฉัยคำฟ้องในฐานะและนิติสัมพันธ์ในคดีประกันภัยพิจารณาจากจุดใด

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 641,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 609,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 519,800 บาท ให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 กันยายน 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แต่ไม่เกิน 600,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าส่วนที่ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 31-0857 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน 31-4326 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติศักดิ์ ทรานสปอร์ต (1992) เอาประกันภัยรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร ไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 เวลา 16.40 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันดังกล่าวออกจากหน้าบริษัทไทรอัมพ์ จำกัด แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อตรงออกปากซอยนิคมอุตสาหกรรมบางพลีซอย 7 ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนด้วยความเร็วสูงและไม่สามารถหยุดห้ามล้อได้ทัน เป็นเหตุให้รถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถโดยสารทั้งสองคันของโจทก์ที่จอดดับเครื่องยนต์อยู่ริมถนนหน้าบริษัทดูแม็กซ์ จำกัด เพื่อรอรับคนงานจนรถโดยสารทั้งสองคันของโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติศักดิ์ ทรานสปอร์ต (1992) ที่จำเลยที่ 1 ขับ ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย อันมีลักษณะเป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถโดยสารคันดังกล่าว ซึ่งการรับประกันภัยค้ำจุนนั้น ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แต่คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้ขับรถในฐานะใดหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติศักดิ์ ทรานสปอร์ต (1992) ผู้เอาประกันภัย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีโอกาสทราบว่าผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุใด อันจะทำให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัย ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 31-0857 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน 31-4326 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เอาประกันภัยรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร ไว้กับจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2549 เวลา 16.40 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันดังกล่าวออกจากหน้าบริษัท ท. แล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อตรงออกปากซอยนิคมอุตสาหกรรมบางพลีซอย 7 ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนด้วยความเร็วสูงและไม่สามารถหยุดห้ามล้อได้ทัน เป็นเหตุให้รถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถโดยสารทั้งสองคันของโจทก์ที่จอดดับเครื่องยนต์อยู่ริมถนนหน้าบริษัท ด. เพื่อรอรับคนงานจนรถโดยสารทั้งสองคันของโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ที่จำเลยที่ 1 ขับ ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย อันมีลักษณะเป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถโดยสารคันดังกล่าว ซึ่งการรับประกันภัยค้ำจุนนั้น ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แต่คำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-0174 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้ขับรถในฐานะใดหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ผู้เอาประกันภัย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีโอกาสทราบว่าผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุใด อันจะทำให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัย ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

Facebook Comments