ใส่ความและประจานผู้อื่น ว่ายักยอกตามตัวไม่ครบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2537
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีโจทก์ที่ 3 และนางสาวส.ลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทเพื่อกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดประกอบกิจการหนังสือพิมพ์รายวันมีจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบภาคปฏิบัติการ ควบคุม ดูแล และสั่งการ มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติลงบทความ จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเขียนและโฆษณาโดยตัดสินใจและอนุมัติให้ตีพิมพ์ข้อความลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อประชาชนทั่วไปและตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ขึ้นหัวข้อข่าวว่า “แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน” และมีใจความในข่าวว่านาย ช.เจ้าของร้านสมพรเฟอร์นิเจอร์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทแอมเทล กรุ๊ป กรุงเทพ จำกัด ซึ่งมีนายช.(โจทก์ที่ 3)กับพวกรวม 5 คน เป็นกรรมการ เป็นจำเลยในข้อหาผิดสัญญาซื้อขายจ้างทำของ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,035,255 บาท โดยโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายและว่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ โจทก์ส่งเฟอร์นิเจอร์ให้จำเลยแล้วแต่จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เพียงบางส่วน สรุปแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 1,035,255 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระโดยมุ่งพาดหัวข่าวคำว่า “เบี้ยว” ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์มีเจตนาโกงเงินค่าเฟอร์นิเจอร์ ไม่ยอมชำระให้แก่ร้านค้า ทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าโจทก์ทั้งสามฉ้อโกงเงินค่าเฟอร์นิเจอร์ซึ่งความจริงแล้วนายช. โจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นฝ่ายผิดสัญญา ส่งเฟอร์นิเจอร์ให้ไม่ครบและส่งไม่ทันตามกำหนด จำเลยทั้งห้ารีบลงข่าวโดยไม่รอให้ทราบข้อเท็จจริงเสียก่อนเพราะจำเลยทั้งห้ามีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ทั้งสามมาก่อน ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีและตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขตทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 50 คำสั่งของคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519ข้อ 7, 8 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 83 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 8พระราชบัญญัติ การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 1 ลงโทษปรับ 2,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท พฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าข้อความหมิ่นประมาทมีเฉพาะหัวข้อข่าวเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนโทษจำคุกจึงให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 5 มีว่า หัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ เป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์แปลความหมายคำว่าเบี้ยวผิดไปจากเจตนารมณ์ หรือความหมาย ข้อความที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ไม่อาจแปลความว่า โกงหรือฉ้อโกงค่าเฟอร์นิเจอร์นั้น เห็นว่าหัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ คำว่าเบี้ยวมีความหมายพิเศษเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าหมายถึง ไม่ซื่อตรงหรือโกง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ก็ยังคงให้ความหมายคำว่า เบี้ยว ทำนองเดียวกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 กล่าวคือ ให้ความหมายว่าเบี้ยว ว. มีรูปบิดเบ้ ไปจากเดิมซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกลม เช่นหัวเบี้ยว ปากเบี้ยว คำว่า บิด ก. ทำให้ผิดไปจากสภาพความจริงเช่น บิดข้อความ คำว่า เบ้ ว. บิด ไม่ตรงเช่นทำปากเบ้ และคำว่าตรงว. ซื่อไม่โกง เช่น เขาเป็นคนซื่อตรง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์หมายถึงแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์ เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกงจึงมิได้เป็นการแปลความหมายผิดไปจากเจตนารมณ์หรือความหมาย ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า การกระทำซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นต้องถือเอาความรู้สึกของบุคคลธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไป มิใช่ถือเอาแต่ความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่อ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายเท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์เชื่อตามคำเบิกความของนางเทียนหอม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสามเพียงคนเดียวจึงเป็นการรับฟังที่ผิดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความ เห็นว่า หัวข้อข่าวที่ว่า “แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ เจ้าของร้านฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน” ประกอบกับข้อความในเนื้อข่าวตามฟ้องเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เอง โดยพิเคราะห์จากข้อความเหล่านั้นว่ามีความหมายอย่างไร พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นการใส่ความที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามต้องเสียชื่อเสียง ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้นั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แนวหน้าตามฟ้องนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล อันจะได้รับยกเว้นไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4) หรือไม่เห็นว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เคยให้จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาโดยยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้บริการจากโรงแรมโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แลกเปลี่ยนกับการที่หนังสือพิมพ์ลงโฆษณาให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 และก่อนคดีนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เคยฟ้องจำเลยทั้งห้าข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว 3 คดีเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องแล้วแสดงให้เห็นเจตนาของฝ่ายจำเลยได้ว่า ไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล เพราะหัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เอง ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมเข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสามไม่ซื่อตรงหรือโกงซึ่งไม่ตรงกับความจริง เมื่อฝ่ายจำเลยลงข่าวแสดงความเห็นเสียเองเช่นนี้ จึงเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามในประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และการลงข่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4)…
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า คำว่า แอมบาสเดอร์ต่างกับชื่อของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และต่างกับชื่อแอมบาสเดอร์ที่เป็นชื่อธุรกิจโรงแรมของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า ข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้นเมื่ออ่านประกอบกันทั้งหมดแล้วหมายถึงว่าแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกงคำว่าแอมบาสเดอร์เป็นถ้อยคำที่ละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่าแอมบาสเดอร์ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการดำเนินธุรกิจโรงแรมอยู่แล้วในเนื้อข่าวยังได้ระบุชื่อโจทก์ที่ 3 ว่าเป็นกรรมการ ซึ่งโจทก์ที่ 3ก็เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และประกอบธุรกิจอยู่ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมรู้ได้ว่าแอมบาสเดอร์ตามหัวข้อข่าวหมายถึง แอมบาสซาเดอร์อันเป็นชื่อที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2ใช้ในธุรกิจโรงแรมนั้นเอง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามขาดความเชื่อถือเนื่องจากไม่ซื่อตรงหรือโกงตามที่ลงข่าว เห็นว่า ข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์แนวหน้าตามฟ้องหมายถึงชื่อของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 5 ฎีกาว่าชื่อของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้มีความหมายหรือให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นชื่อโรงแรมแอมบาสเดอร์หรือโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อว่าโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โจทก์ที่ 3เองก็เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงแรมทั้งสองแห่งนั้น ปรากฏตามคำเบิกความของนางเทียนหอมพยานโจทก์ว่า โจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อโรงแรมว่าแอมบาสซาเดอร์ซิตี้จอมเทียน ตั้งอยู่เลขที่ 21/10 หมู่ที่ 2ถนนสุขุมวิท ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีโจทก์ที่ 2 ประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อว่าโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ตั้งอยู่เลขที่ 171 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 3 เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2และเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงการกระทำของจำเลยทั้งห้าทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับการดูถูกดูหมิ่นและเกลียดชังจากบุคคลทั่วไปรวมตลอดทั้งวงการค้าด้วย ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าโจทก์ทั้งสามนั้นคบไม่ได้ เพราะอาจถูกเบี้ยวได้ ฉะนั้นผลแห่งการกระทำของฝ่ายจำเลยน่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามต้องเสียชื่อเสียงแล้วที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่าโจทก์ที่ 3 เป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายนั้นเห็นว่า บริษัทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องกระทำโดยผู้แทน โจทก์ที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ฝ่ายจำเลยลงข่าวในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยในเนื้อข่าวระบุชื่อโจทก์ที่ 3 ว่าเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นอกจากจะเป็นการหมิ่นประมาท โจทก์ที่ 1และที่ 2 แล้ว ยังเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 3 ผู้ถูกระบุชื่อว่าเป็นกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนดำเนินหรือปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 รับผิดชอบงานนโยบายหรือการปฏิบัติการในระดับสูงโจทก์ทั้งสามไม่ได้นำสืบว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำการใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามอย่างไรคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการ รับผิดชอบภาคปฏิบัติการ มีหน้าที่บริหารดูแลทางด้านการเงินและการตลาด รวมทั้งมีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับนโยบายของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 5 นอกจากเป็นกรรมการและผู้จัดการทั่วไปยังมีหน้าที่ให้นโยบายในการบริหารของจำเลยที่ 1 อีกด้วยนั้นโดยที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 มิได้ยอมรับว่าเป็นผู้ให้ข่าวหรือได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงข่าวดังกล่าวใส่ความโจทก์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเขียนและโฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์แนวหน้าของจำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องนำสืบพิสูจน์โดยนำข้อเท็จจริงมาสู่ศาลเพื่อให้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ประจักษ์ว่า จำเลยที่ 3และที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างไรการที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการรับผิดชอบภาคปฏิบัติการนั้นก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการตลาด ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้คัดเลือกหรือสั่งให้ลงพิมพ์หัวข้อข่าวและเนื้อข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 มีอำนาจในการให้นโยบายในการบริหารก็น่าจะเป็นการบริหารของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยทั่ว ๆ ไป ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3และที่ 5 ให้นโยบายว่าจะเสนอข่าวเกี่ยวกับหัวข้อข่าว และเนื้อข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด คดีจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3และที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องโจทก์ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป
คำว่าเบี้ยวมีความหมายพิเศษเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หมายถึงไม่ซื่อตรงหรือโกงการแปลหัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ หมายถึงแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกง จึงไม่เป็นการแปลความหมายผิดไปจากเจตนารมณ์หรือความหมายหัวข้อข่าวที่ว่า”แอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์ เจ้าของฟ้องศาลเรียกหนี้ 1 ล้าน” ประกอบกับข้อความในเนื้อข่าวตามฟ้อง เป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยได้เองโดยพิเคราะห์จากข้อความเหล่านั้นว่ามีอย่างไร หัวข้อข่าวที่ว่าแอมบาสเดอร์เบี้ยวค่าเฟอร์นิเจอร์เป็นถ้อยคำของหนังสือพิมพ์เอง ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ซื่อตรงหรือโกงซึ่งไม่ตรงกับความจริง เมื่อจำเลยลงข่าวแสดงความเห็นเสียเอง จึงเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามในประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และการลงข่าวเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(4) ข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น เมื่ออ่านประกอบกันทั้งหมดหมายถึงว่าแอมบาสเดอร์ไม่จ่ายค่าเฟอร์นิเจอร์เพราะไม่ซื่อตรงหรือโกงคำว่าแอมบาสเดอร์เป็นถ้อยคำที่ละม้ายคล้ายคลึงกับคำว่าแอมบาสเดอร์ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการดำเนินธุรกิจโรงแรมอยู่แล้ว ในเนื้อข่าวยังได้ระบุชื่อโจทก์ที่ 3 ว่าเป็นกรรมการซึ่งโจทก์ที่ 3 ก็เป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และประกอบธุรกิจอยู่ ประชาชนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ย่อมรู้ได้ว่าแอมบาสเดอร์ตามหัวข้อข่าวหมายถึงแอมบาสเดอร์ อันเป็นชื่อที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ในธุรกิจโรงแรมนั้นเอง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามขาดความเชื่อถือเนื่องจากไม่ซื่อตรงหรือโกงตามที่ลงข่าวเมื่อข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องหมายถึงชื่อของโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสาม บริษัทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น ดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องกระทำโดยผู้แทน โจทก์ที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยลงข่าวในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยในเนื้อข่าวระบุชื่อโจทก์ที่ 3 ว่าเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นอกจากจะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1และที่ 2 แล้ว ยังเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 3 ผู้ถูกระบุชื่อว่าเป็นกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนดำเนินหรือปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วย โจทก์ทั้งสามจึงเป็นผู้เสียหาย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันเขียนและโฆษณาข้อความลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 5ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์และมิได้ยอมรับว่าเป็นผู้ให้ข่าวหรือได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงข่าวใส่ความโจทก์โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ โดยนำข้อเท็จจริงมาสู่ศาลเพื่อให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ประจักษ์ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างไร และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้นโยบายว่าจะเสนอข่าวเกี่ยวกับหัวข้อข่าวและเนื้อข่าวหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3และที่ 5 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้อง