Home บทความคดีแพ่ง ใส่ความและประจานผู้อื่น ว่ายักยอกตามตัวไม่ครบ

ใส่ความและประจานผู้อื่น ว่ายักยอกตามตัวไม่ครบ

1657

ใส่ความและประจานผู้อื่น ว่ายักยอกตามตัวไม่ครบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 79/2537

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้กล่าวหมิ่นประมาทผู้เสียหายว่า “ยักยอกและตามตัวไม่พบ” ซึ่งหมายความว่าผู้เสียหายได้กระทำความผิดอาญายักยอกเงินทางราชการแล้วหลบหนีไปหาตัวไม่พบอันเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณานางเทา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยกล่าวถ้อยคำโดยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์โดยรองอธิบดีกรมอัยการรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคณิกาผลถูกร้องเรียนว่ายักยอกเอาเงินโครงการอาหารกลางวันและอื่น ๆถูกตั้งกรรมการสอบสวนและได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จำเลยได้รับมอบหมายให้รักษาการแทนโจทก์ร่วมในการเบิกจ่ายเงินเดือนจำเลยจะนำเงินที่รับจากงานคลังเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชวงศ์ บี. เพื่อให้ครูของโรงเรียนเบิก แต่ครูต้องลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือนด้วย ในคราวเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานดังกล่าว สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายถือว่าเงินเดือนของโจทก์ร่วมไม่มีผู้รับต้องส่งคืน จำเลยจึงทำหนังสือสั่งธนาคารดังกล่าวระงับการจ่ายเงินเดือนโจทก์ร่วม และนำไปมอบให้แก่ธนาคาร นายเขียว์ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีรับหนังสือแล้วได้ถามจำเลยว่ามีเรื่องอะไรหรือ จำเลยกล่าวตอบว่า “ยักยอก ตามตัวไม่พบ” คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า คำพูดของจำเลยดังกล่าวเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์มีนายเขียว์ ผู้ช่วยสมุห์บัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชวงศ์ บี. มาเบิกความยืนยันว่า คำพูดของจำเลยดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินหนีไป ในชั้นสอบสวนพยานปากนี้ก็ได้ให้การว่าเข้าใจว่าโจทก์ร่วมยักยอกเงินของทางราชการ ดังนั้นคำพูดของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ร่วม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกล่าวโดยเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ทั้งปรากฏว่าสาเหตุที่มีการสั่งระงับการจ่ายเงินเดือนก็เพราะโจทก์ร่วมไม่ยอมลงชื่อในหลักฐานการจ่ายเงินเดือน หาใช่เพราะโจทก์ร่วมยักยอกและตามตัวไม่พบ ทางพิจารณาก็ปรากฏว่าจำเลยกับโจทก์ร่วมมีเหตุขัดแย้งและไม่พอใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการกันอยู่ จึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถ้อยคำตามฟ้อง โดยเจตนาใส่ความโจทก์ร่วม ทั้งถ้อยคำดังกล่าวก็เป็นความเท็จ เพราะจำเลยทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ร่วมอยู่ในระหว่างถูกผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และได้สั่งให้โจทก์ร่วมไปช่วยราชการที่กองวิชาการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร หาใช่ว่าคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วและลงความเห็นว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดวินัย และโจทก์ร่วมหลบหนีไปแต่อย่างใดไม่ การกล่าวถ้อยคำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดก่อนวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 และโดยที่มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ยกเลิกความในมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและบัญญัติใหม่ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” จึงถือว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้แตกต่างและมิได้เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดเพราะมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำผิดบัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”ดังนั้นคดีนี้จึงต้องใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3”

Facebook Comments