Home บทความ ทำงานชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดของสัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ทำงานชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดของสัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

786

ทำงานชักช้า ฝ่าฝืนข้อกำหนดของสัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2510

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาต่อเติมอาคารของโจทก์เป็นเงิน 14,000 บาท รับเงินล่วงหน้าไป 6,000 บาท สัญญาทำให้เสร็จภายใน 25 วัน นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2505 ถ้าไม่เสร็จ ให้ปรับวันละ 30 บาท จำเลยไม่ลงมือก่อสร้าง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาขอให้พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 6,000 บาท กับดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 262.50 บาท ค่าปรับ 25 วัน 750 บาท

 

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ขออนุญาตต่อเทศบาลจำเลยจ้างคนและซื้อวัสดุก่อสร้างเตรียมไว้ ของหายและเสียหายต้องขายขาดทุนหักเงินที่โจทก์ชำระไว้ล่วงหน้า โจทก์ยังต้องชำระให้จำเลยอีก 4,830บาท จำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ โดยผู้ลงนามในสัญญากระทำในนามตนเอง ไม่ใช่ในนามห้างหุ้นส่วนจำเลยฟ้องแย้ง ขอให้โจทก์ใช้เงิน 4,830 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ย

 

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การขออนุญาตหรือไม่เป็นเรื่องของโจทก์จำเลยไม่ได้เสียหาย

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 6,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ชำระค่าปรับ 750 บาท

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยตกลงทำการต่อเติมโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อเทศบาล หาใช่ว่าโจทก์ตกลงจะเป็นผู้ขอรับอนุญาตจากเทศบาลไม่ถ้าหากจำเลยทำการก่อสร้างตามสัญญา โดยไม่ขออนุญาตต่อเทศบาลเสียก่อนข้อสัญญานี้ก็หาคุ้มครองให้จำเลยพ้นความผิดในฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่รับอนุญาตอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร ไม่ เหตุนี้ การที่ได้ลงไว้ในสัญญาว่ากำหนดก่อสร้างวันที่ 20 มกราคม 2505 และจำเลยมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างในวันนั้น เพราะมิได้มีอนุญาตจากเทศบาลมา โจทก์จะอ้างว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะไม่ชำระหนี้ตามเวลากำหนดหาได้ไม่เพราะตามข้อตกลงมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่จำเลยต้องจัดให้ได้รับอนุญาตเพื่อทำการก่อสร้างตามสัญญาแต่กลับเป็นการที่โจทก์เองตกลงให้จำเลยก่อสร้างโดยไม่ให้มีการรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยไม่ก่อสร้างตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้เบี้ยปรับ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนเงิน 6,000 บาท จำเลยรับไปเป็นค่าจ้างล่วงหน้าเพื่อตอบแทนการที่จำเลยจะได้ทำการการที่จำเลยไม่ทำการก่อสร้างเพราะมีกฎหมายห้าม โดยโจทก์รู้เห็นเป็นใจให้จ้างให้จำเลยทำการดังกล่าวก่อสร้างตามสัญญา เมื่อจำเลยไม่ทำการก่อสร้างเพราะไม่มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินั้น จำเลยจะเอาเงิน 6,000 บาท นั้นไว้ไม่คืนให้โจทก์ไปหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงิน 6,000 บาท จึงเป็นการชอบแล้ว แต่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ตั้งแต่วันฟ้อง มิใช่ตั้งแต่วันที่รับเงินนั้นไปจากโจทก์ เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยผิดสัญญา อันโจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้

 

เมื่อการก่อสร้างมิได้กระทำลงเพราะต่างก็ตกลงกันจะทำโดยไม่ขออนุญาตจากเทศบาล จำเลยก็ไม่ก่อสร้าง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาก็ไม่ได้เหมือนกัน เหตุนี้จำเลยจึงไม่มีมูลหนี้อย่างใดที่จะอ้างให้โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยอ้างว่าได้รับนั้น

 

ได้ความว่า สัญญารายนี้ได้ทำในที่ทำการของจำเลย โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลยที่จำเลยแก้ว่าได้ขีดฆ่าชื่อนายชมพูหุ้นส่วนผู้จัดการผู้หนึ่งออกจากแบบพิมพ์สัญญานั้น ข้อความในสัญญาก็ยังมีความชัดอยู่ว่า ห้างหุ้นส่วนจำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง หาได้ขีดฆ่าความตอนนี้ออกด้วยไม่ พฤติการณ์ที่ปรากฏจึงเป็นการที่ห้างหุ้นส่วนจำเลยแสดงออกว่านายประดู่์เป็นตัวแทนของจำเลย ซึ่งจำเลยต้องรับผิดในการที่นายประดู่์ได้รับเงินของโจทก์ไว้

 

พิพากษาแก้ ให้จำเลยคืนเงิน 6,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่ง ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอของโจทก์นอกจากนี้และฟ้องแย้งของจำเลยให้ยกเสีย

สรุป

โจทก์ตกลงจ้างจำเลยต่อเติมอาคารโดยไม่ได้มีการรับอนุญาตจากเทศบาลถ้าหากจำเลยทำการก่อสร้างโดยไม่ขออนุญาตเสียก่อนข้อสัญญานี้ก็หาคุ้มครองให้จำเลยพ้นความผิดในฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่รับอนุญาตอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารไม่เหตุนี้การที่จำเลยมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างตามกำหนด เพราะมิไดัรับอนุญาตจากเทศบาล โจทก์จะอ้างว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะไม่ชำระหนี้ตามเวลากำหนดหาได้ไม่เพราะตามข้อกำหนดมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่จำเลยต้องจัดให้ได้รับอนุญาตเพื่อทำการก่อสร้างโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในการที่จำเลยไม่ก่อสร้างตามสัญญา เมื่อจำเลยไม่ทำการก่อสร้างเพราะไม่มีใบอนุญาต จำเลยจะเอาเงินค่าจ้างล่วงหน้าไว้ไม่ได้ต้องคืนให้โจทก์ผู้ว่าจ้างแต่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนี้ตั้งแต่วันฟ้องมิใช่ตั้งแต่วันที่รับเงินนั้นไปจากโจทก์ เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยทำผิดสัญญา อันโจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้

เมื่อการก่อสร้างมิได้กระทำลง เพราะต่างก็ตกลงกันจะทำโดยไม่ขอรับอนุญาตจากเทศบาลจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ได้จำเลยจึงไม่มีมูลหนี้อย่างใดที่จะอ้างให้โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยอ้างว่าได้รับนั้น

จำเลยทำสัญญารับจ้างโดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลย แต่ได้ขีดฆ่าชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการผู้หนึ่งออกจากแบบพิมพ์สัญญา ข้อความในสัญญายังมีความชัดอยู่ว่าห้างหุ้นส่วนจำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง หาได้ขีดฆ่าข้อความตอนนี้ออกด้วยไม่พฤติการณ์ที่ปรากฏจึงเป็นการที่ห้างหุ้นส่วนจำเลยแสดงออกว่าหุ้นส่วนผู้จัดการนั้นเป็นตัวแทนของจำเลยจำเลยต้องรับผิดในการที่หุ้นส่วนผู้จัดการได้รับเงินของโจทก์ไว้

Facebook Comments