Home บทความคดีแพ่ง หลอกลวงผู้เสียหาย ว่าจะนำรถเอามาใส่ทะเบียนซึ่งเป็นความเท็จ มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

หลอกลวงผู้เสียหาย ว่าจะนำรถเอามาใส่ทะเบียนซึ่งเป็นความเท็จ มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

1287

หลอกลวงผู้เสียหาย ว่าจะนำรถเอามาใส่ทะเบียนซึ่งเป็นความเท็จ มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 345/2516

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2513 เวลากลางวัน จำเลยได้ขอยืมรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮอนด้า ขนาด 50 ซีซี สีแดง หนึ่งคันของนางน้ำตาล ไปใช้ในธุรกิจของจำเลย และบอกนางน้ำตาลว่าจะนำรถมาคืนในวันเดียวกัน นางน้ำตาลมอบรถจักรยานยนต์ให้จำเลยไป ในระหว่างตั้งแต่วันเวลาที่กล่าวถึงวันที่ 29 มีนาคม 2513 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยบังอาจเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของนางน้ำตาลไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยได้นำรถนั้นไปขายให้แก่ผู้อื่นโดยทุจริต นางน้ำตาลรู้เรื่องนี้วันที่ 29 มีนาคม 2513 และได้ร้องทุกข์ภายในอายุความแล้วเหตุเกิดที่ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และสั่งให้จำเลยคืนรถจักรยานยนต์ หรือใช้ราคา 1,000 บาท แก่นางน้ำตาลผู้เสียหาย

 

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีว่า จำเลยขายรถจักรยานยนต์ให้นางน้ำตาล นางน้ำตาลชำระเงินให้ไม่ครบจำนวน จำเลยจึงไปเอารถจักรยานยนต์คืนมา

 

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยขายรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายไปแล้ว ผู้เสียหายยังชำระเงินค่ารถให้จำเลยไม่ครบ จำเลยจึงไปเอารถคันนั้นคืนมา โดยใช้อุบายหลอกลวงว่าขอยืมรถไปเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย แล้วไม่เอารถและทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นเห็นว่า กรรมสิทธิ์ของรถโอนไปเป็นของผู้เสียหายแล้ว ที่จำเลยเอารถไปได้ก็โดยจำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจะไปเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงให้ยืมรถไป เมื่อจำเลยมิได้เอาทะเบียนรถและรถมาให้ผู้เสียหาย ก็เห็นได้ว่า ผู้เสียหายมิได้มีเจตนามอบการครอบครองรถคันนั้นให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยเอารถคันนั้นไปเป็นของตนหรือของผู้อื่นก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้อง แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ แต่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยไม่ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์

 

โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำว่า หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้นหมายความว่า เป็นการแสดงยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือกำลังเกิดอยู่ในขณะแสดงเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ หาได้หมายความถึงความคิดเห็นหรือเหตุการณ์ในอนาคตไม่คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความชัดว่า จำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายโดยได้บอกผู้เสียหายว่า จะเอารถไปเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหายแล้วจะนำรถมาคืนตอนเย็นวันเดียวกันนั้น เป็นแต่เพียงการกล่าวประกอบการยืมที่แสดงข้อเท็จจริงในอนาคตซึ่งเป็นการคาดคะเนไม่แน่นอน เมื่อจำเลยไม่เอาทะเบียนรถมาให้และไม่เอารถมาคืนให้ผู้เสียหาย แม้จะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหาย ก็เป็นแต่เพียงจำเลยให้สัญญาหรือคำรับรองไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยจะทำกิจการอย่างนั้นแล้วจำเลยไม่ทำเท่านั้น จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงดังข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และผู้เสียหายได้มอบการครอบครองแก่จำเลยแล้วเมื่อจำเลยเบียดบังเอาไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม ก็ย่อมมีความผิดฐานยักยอก ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวง และวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ศาลอุทธรณ์ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน และตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมา ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จะถือว่าจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถไปจากผู้เสียหายแล้วก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญายืมในทางแพ่ง จำเลยไม่มีเจตนาในทางอาญา ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยศาลชั้นต้นในผลแห่งคำพิพากษา พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องผิดสัญญายืมในทางแพ่ง จำเลยไม่ผิดทางอาญานั้น ยังไม่ชอบ เพราะเป็นเรื่องที่จำเลยยืมรถซึ่งเป็นทรัพย์คงรูปแล้วจำเลยเอารถไปขายให้ผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ความผิดฐานยักยอก ขอให้ลงโทษจำเลยไปตามฟ้อง

 

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว

 

คดีนี้ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยขายรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายไปแล้วผู้เสียหายยังชำระเงินค่ารถให้จำเลยไม่ครบ จำเลยจึงไปเอารถคันนั้นคืนมา โดยใช้อุบายหลอกลวงว่ายืมรถไปเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย แล้วไม่เอาทะเบียนรถและรถมาให้ผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้ถือได้ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเจตนาทางอาญาอยู่ในตัวแล้ว ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาเป็นเรื่องผิดสัญญายืมในทางแพ่ง และจำเลยไม่มีเจตนาในทางอาญา จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นได้ฟังมาดังกล่าว

 

ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่นั้น เห็นว่าการที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายว่าขอยืมรถไปเพื่อเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อคำหลอกลวงดังกล่าวของจำเลย จึงให้จำเลยยืมรถไปเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองรถของผู้เสียหายตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคดีและสิทธิของโจทก์ที่จะขอให้คืนหรือใช้ราคารถแก่ผู้เสียหายย่อมระงับไปด้วย

 

พิพากษายืน

สรุป

คดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยขายรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายไปแล้วผู้เสียหายยังชำระค่ารถให้จำเลยไม่ครบจำเลยจึงไปเอารถคืนมาโดยใช้อุบายหลอกลวงว่ายืมรถไปเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย เช่นนี้ ถือได้ว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเจตนาทางอาญาอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาเป็นเรื่องผิดสัญญายืมในทางแพ่ง และจำเลยไม่มีเจตนาในทางอาญา จึงเป็นการวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนข้อเท็จจริง

การที่จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายว่าขอยืมรถไปเพื่อเอาทะเบียนรถมาให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายหลงเชื่อคำหลอกลวงดังกล่าวของจำเลยจึงให้จำเลยยืมรถไปเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองรถของผู้เสียหาย ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก

Facebook Comments