Home บทความคดีแพ่ง หลอกลวงให้ลงทุนในการค้าทองคำทั้งที่ไม่มีการค้าเกิดขึ้น มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

หลอกลวงให้ลงทุนในการค้าทองคำทั้งที่ไม่มีการค้าเกิดขึ้น มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

2739

หลอกลวงให้ลงทุนในการค้าทองคำทั้งที่ไม่มีการค้าเกิดขึ้น มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2533

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 90, 91, 86, 84, 83 และ 59

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำคุก 3 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นายทองหลาง และนายมะขาม เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ 1 มาที่บ้านโจทก์และพูดชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุนค้าทองคำโดยจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปซื้อทองคำเพื่อขายแก่ลูกค้าลูกค้าจะส่งเงินค่าทองคำให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกวัน จำเลยที่ 1จะนำเงินต้นทุนและกำไรมาส่งให้แก่โจทก์ ถ้าโจทก์ลงทุน 42,000 บาทในระยะเวลา 41 วัน จะได้กำไร 20,000 บาท จำเลยที่ 1 จะนำเงินต้นทุนและกำไรมาส่งให้แก่โจทก์ในวันแรก 2,000 บาท ต่อจากนั้นวันละ 1,500 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2529โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อลงทุน รวม 20 ครั้งเป็นเงิน890,900 บาท ตามเอกสารหมาย จ.1 และได้รับเงินตอบแทนจากจำเลยที่ 1รวม 447,500 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ส่งเงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไปทวงถามจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 1รับว่าไม่ได้นำเงินไปลงทุนค้าทองคำ โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เห็นว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นพี่สะใภ้ของนายทองหลางสามีโจทก์ มีความเกี่ยวข้องคุ้นเคยกับโจทก์ดีและไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 1 มาก่อน นายมะขามพยานโจทก์ก็เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เองถือได้ว่าเป็นพยานคนกลาง จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมานี้จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของนายมะขามต่อไปว่า จำเลยที่ 1 เคยชวนไปหาบุคคลที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นลูกค้า ไม่เคยเห็นจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากลูกค้าและไม่มีลูกค้าฝากสิ่งของมาให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ซื้อของในตลาดให้โจทก์โดยบอกว่าลูกค้าซื้อมาฝาก เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกจับกุมคดีนี้พยานไปเยี่ยม จำเลยที่ 1 รับว่าไม่ได้นำเงินไปลงทุนค้าทองคำ พยานบอกให้คืนเงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 บอกว่าไม่มีหลักฐานให้พยานอยู่เฉย ๆ จะดีเอง แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ประกอบธุรกิจค้าขายทองคำจริงดังที่บอกโจทก์ เพียงแต่ยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อหลอกลวงให้โจทก์หลงเชื่อและมอบเงินให้จำเลยที่ 1 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังฟ้อง ที่จำเลยที่ 1นำสืบต่อสู้คดีว่ามิได้หลอกลวงโจทก์จำเลยที่ 1 นำเงินไปลงทุนซื้อทองคำและนำทองคำไปขายให้แก่ลูกค้าจริงนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว ปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น เห็นว่า หนักเกินไป เนื่องจากได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีความเกี่ยวพันกันเสมือนญาติ และโจทก์ได้รับเงินคืนจากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวน 447,500 บาท แล้วจึงสมควรวางโทษต่ำกว่าอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

สรุป

จำเลยมิได้ประกอบธุรกิจค้าขายทองคำ แต่หลอกลวงโจทก์ โดยการพูดจาชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุนเข้าหุ้นค้าทองคำกับจำเลยโจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง.

Facebook Comments