Home บทความคดีแพ่ง หลักการพิจารณาความผิดอันเกิดจากเจตนาเดียวในคดีฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หลักการพิจารณาความผิดอันเกิดจากเจตนาเดียวในคดีฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

1796

หลักการพิจารณาความผิดอันเกิดจากเจตนาเดียวในคดีฉ้อโกง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 266,268, 341, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 ให้จำเลยคืนเงิน 40,000 บาทแก่ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยทั้งสองต่อกับโทษในคดีอื่นของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 265, 268, 341 ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงจำคุกคนละ 1 ปีฐานปลอมเอกสารสิทธิจำคุกคนละ 2 ปีรวมจำคุกคนละ3 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 40,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ส่วนคำขอให้นับโทษต่อไม่ปรากฏว่าศาลพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีเหล่านั้น จึงให้ยก

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายและนางนางให้หลงเชื่อยอมลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (ท.ด.1) ตามฟ้องโดยที่เอกสารเหล่านั้นเป็นแบบพิมพ์ยังมิได้กรอกข้อความและจำเลยทั้งสองได้ร่วมกับผู้มีชื่อกรอกข้อความลงในเอกสารนั้น ซึ่งข้อความที่กรอกผิดไปจากความประสงค์อันแท้จริงของผู้เสียหายอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้เสียหายและผู้เสียหายไม่ยินยอมการที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแม้จะยังไม่ได้กรอกข้อความลงในเอกสารนั้นก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิแล้วเพราะจำเลยทั้งสองอาจนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์ว่าผู้เสียหายเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินได้ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต่อมาเมื่อจำเลยทั้งสองนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความให้ผิดไปจากความประสงค์ที่ให้จำนองที่ดินประกันหนี้ของตัวผู้เสียหายเองเป็นให้ประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้เสียหายและผู้เสียหายไม่ยินยอม แล้วจำเลยทั้งสองนำไปยื่นต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสว่างแดนดิน และสำนักงานที่ดินอำเภอสว่างแดนดิน เพื่อเป็นการจำนองที่ดินของผู้เสียหายค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 2เป็นหนี้ธนาคารอยู่ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 ด้วยตรงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาเดียวเพื่อที่จะได้เงิน 40,000 บาทจากธนาคารจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 265, 268, 341 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 ประกอบกับมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกคนละ 2 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

สรุป

จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์เอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือเรื่องราวจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แม้จะยังไม่ได้กรอกข้อความลงในเอกสารนั้น การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำเอกสารสิทธิแล้ว เพราะจำเลยอาจนำไปกรอกข้อความให้ครบถ้วนบริบูรณ์ว่าผู้เสียหายเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินได้จำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และเมื่อจำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความให้ผิดจากความประสงค์ของผู้เสียหายโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้เสียหายและผู้เสียหายไม่ยินยอม แล้วจำเลยนำไปยื่นต่อธนาคารและสำนักงานที่ดินเพื่อเป็นการจำนองที่ดินของผู้เสียหายค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยเป็นหนี้ธนาคารอยู่การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 268 ด้วย แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวเพื่อให้ได้เงินจากธนาคาร จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268ประกอบด้วยมาตรา 265 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90.

Facebook Comments