Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ จอดรถย้อนศรเส้นทางเดินรถ ถือว่าประมาทหรือไม่

จอดรถย้อนศรเส้นทางเดินรถ ถือว่าประมาทหรือไม่

986

จอดรถย้อนศรเส้นทางเดินรถ ถือว่าประมาทหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5556/2533

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๕๔,๑๔๘

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔, ๑๔๘ ให้ปรับจำเลย๒๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้นำรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๒ ค -๔๗๒๓ กรุงเทพมหานคร ไปจอดไว้ในซอยกว้างประมาณ ๕ เมตร ทางด้านขวาของทางเดินรถของจำเลย โดยไม่จอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ และไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางในระยะห่างไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร และวินิจฉัยว่าที่จำเลยฎีกาว่าบริเวณที่จอดรถ คันเกิดเหตุไม่มีขอบทางเพราะริมทางเดินรถมีรั้วสังกะสี และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดโดยฟังหรืออาศัยพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์แล้วมิได้พิจารณาพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบแก้เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้นเห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการวินิจฉัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย และวินิจฉัยต่อมาว่าความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ขับขี่ต้องจอดรถทางด้านซ้ายของทางเดินรถ และจอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับทางหรือไหล่ทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร หรือจอดรถตามทิศทางหรือด้านหนึ่งด้านใดของทางเดินรถที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดไว้ แต่ในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ด้านซ้ายสุุด ของทางเดินรถห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในลักษณะดังกล่าวในเวลาที่กำหนดให้ใช้ช่องทางเดินรถประจำทางนั้นเห็นว่า การที่จำเลยจอดรถชิดของทางด้านที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดแต่หันหัวสวนทางกับรถคันอื่นที่จะแล่นเข้ามาในซอยที่เกิดเหตุ เป็นการจอดรถด้านขวาของทางเดินรถของจำเลยไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิดกับขอบทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตรจึงเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวโดยชัดแจ้ง การตีความและปรับบทลงโทษของศาลล่างทั้งต้องตามเจตนารมณ์ของกฏหมาย และปรับบทลงโทษได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าการจอดรถดังกล่าวเป็นการกีดขวางการจราจรหรือไม่ และเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ทางเดินรถหรือไม่การปรับบทลงโทษของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

สรุป

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดโดยฟังหรืออาศัยพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ แล้วมิได้พิจารณาพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบแก้เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น เป็นการโต้แย้งดุลยพินิจของศาลในการวินิจฉัยพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

การที่จำเลยจอดรถชิด ขอบทางด้านที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนดแต่หันหัวรถสวนทางกับรถคันอื่นที่จะแล่นเข้ามาในซอย ที่เกิดเหตุเป็นการจอดรถด้านขวาของทางเดินรถของจำเลยไม่จอดรถให้ด้านซ้ายของรถขนานชิด กับขอบทางในระยะห่างไม่เกินยี่สิบห้าเซนติเมตร จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคสองโดยไม่จำต้องคำนึงว่าจอดรถกีดขวางการจราจรและเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ทางเดินรถหรือไม่.

Facebook Comments