Home บทความ ไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินคัดค้านค่าเสียหายของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าประเด็นแห่งคดีถึงที่สุดหรือไม่

ไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินคัดค้านค่าเสียหายของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าประเด็นแห่งคดีถึงที่สุดหรือไม่

1559

ไม่ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินคัดค้านค่าเสียหายของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือว่าประเด็นแห่งคดีถึงที่สุดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5968/2548

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 40075 และ 40076 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น ต่อเนื่องกันกับบ้านจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 40077 และ 40078 ซึ่งเดิมมีบ้านแฝด 2 ชั้น ต่อเนื่องกันกับบ้านโจทก์ทั้งสอง เมื่อปลายเดือนมกราคม 2538 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รื้อถอนบ้านจำเลยที่ 1 และก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น ขึ้นทดแทน ทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ตัวอาคารและโครงสร้าง ฐานราก คานและเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนัง หลังคา ฝ้าเพดาน และประตูหน้าต่าง ในส่วนที่อยู่ติดกับอาคารจำเลยที่ 1 แตกร้าว ชำรุดบุบสลาย เสียหายมาก ความมั่นคงของฐานรากและโครงสร้างของบ้านโจทก์ทั้งสองได้รับความกระทบกระเทือนจากการก่อสร้าง และจำเลยทั้งสองได้รื้อรั้วบ้านโจทก์ในส่วนที่อยู่ติดกับบ้านจำเลยที่ 1 นอกจากนี้บ้านโจทก์ทั้งสองยังถูกอาคารที่จำเลยทั้งสองร่วมกันปลูกสร้างขึ้นใหม่กั้นทิศทางลม แสงแดด ทางระบายน้ำ อันจำเป็นในการพักอาศัยตามสุขลักษณะที่ถูกต้อง ทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองเสื่อมสลาย เสื่อมค่า ชำรุดเสียหายสูญสิ้นสิทธิการอาศัยตามปกติและวัตถุประสงค์ประเพณีในรูปแบบบ้านแฝดที่ต้องอาศัยใช้ร่วมกัน โจทก์แจ้งจำเลยทั้งสองให้แก้ไขปรับปรุงบ้านโจทก์ทั้งสองให้คืนสู่สภาพเดิมและรื้อถอนอาคารที่สร้างใหม่ของจำเลยที่ 1 ให้ก่อสร้างกลับคืนสู่สภาพเดิม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายในการแก้ไขซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านโจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 600,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด โดยขอคิดเพียง 6 เดือน เป็นเงิน 22,500 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 622,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและร่วมกันรื้ออาคารที่ก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ให้กลับคืนสู่สภาพบ้านแฝดดังเดิม

จำเลยที่ 1 ให้การว่า การรื้อถอนและปลูกสร้างอาคาร จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการสุขาภิบาลคลองหลวงเจ้าพนักงานท้องถิ่นและจำเลยที่ 1 กระทำด้วยความระมัดระวังละเอียดรอบคอบตามหลักวิชาการ มิได้ทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย อาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่มิได้ปิดกั้นทิศทางลม แสงแดง ทางระบายน้ำของบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องไม่เป็นความจริง ถ้าควรจะมีการซ่อมแซมก็ไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 152,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2543 (ที่ถูกวันที่ 31 มกราคม 2538) แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 22,500 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง 152,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งไม่เต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่อุทธรณ์ส่วนโจทก์ทั้งสองก็เพียงแต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์เท่านั้น แม้ในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จะกล่าวว่าโจทก์ไม่พอใจค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ก็ตาม โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เท่ากับโจทก์พอใจตามจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงพิพากษายืน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำปัญหาเรื่องเดียวกันนี้ขึ้นว่ากล่าวในคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองให้สูงขึ้นอีกศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสอง ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

สรุป

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ซึ่งไม่เต็มตามคำขอท้ายฟ้อง คงมีแต่จำเลยเท่านั้นอุทธรณ์ ส่วนโจทก์เพียงแต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ แม้จะแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่พอใจค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ แต่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ เท่ากับโจทก์พอใจตามจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงพิพากษายืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ให้สูงขึ้นอีก

Facebook Comments