จอดรถเลยเส้นที่กำหนดถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2532
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300,390, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21,22, 43, 55, 70, 78, 148, 152, 157, 160 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานายประดู่ธผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22,43, 70, 148 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุกคนละ 4 เดือน ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาหลบหนีไม่หยุดช่วยเหลือและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีให้ยก จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, 43, 152, 157 ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ประกอบมาตรา 157ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งพันบาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีนายเขียว ผู้ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ง-2526กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดรอสัญญาณจราจรไฟสีแดงอยู่ที่สี่แยกที่เกิดเหตุบนถนนรัชดาภิเษก ด้านที่มาจากลาดพร้าว กับนายมะหิน และนางสาวยี่หุบ์ ซึ่งโดยสารมากับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับเป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์โดยสารเคลื่อนไปช้า ๆ ฝ่าสัญญาณจราจรไฟสีแดงเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุเลยเส้นขาวที่ให้รถหยุดประมาณ 10เมตร เกือบถึงกลางสี่แยก สัญญาณไฟจราจรด้านของจำเลยที่ 2 ถึงได้เปลี่ยนเป็นสีเขียว รถจำเลยที่ 2 เข้าไปขวางทางรถ จำเลยที่ 1ซึ่งแล่นเข้ามาในสี่แยกจากถนนรัชดาภิเษกด้านถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งไปทางลาดพร้าวซึ่งขับมาด้วยความเร็ว รถจำเลยที่ 1 ห้ามล้อและหักหลบรถจำเลยที่ 2 ไปทางขวาเสียหลักไปชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟจราจรในถนนรัชดาภิเษกด้านมาจากลาดพร้าว เห็นว่าพยานโจทก์ 3 ปากนี้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะใกล้ และเบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล ไม่มีข้อใดที่เป็นพิรุธ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและยังได้ความจากคำเบิกความของนายมะหิน กับพยานโจทก์อีก 2 ปาก คือนายบานเย็น กับนายกล้วยไม้ ซึ่งยืนอยู่บนถนนบริเวณที่เกิดเหตุว่า รถจำเลยที่ 1 ได้หักหลบรถจำเลยที่ 2 แต่ไม่พ้น ด้านข้างรถจำเลยที่ 1 ได้เฉี่ยวชนรถจำเลยที่ 2ทางส่วนหน้าและจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ได้หักหลบรถจำเลยที่ 2 มีเสียงดังทางด้านซ้ายของรถ จำเลยที่ 1 เข้าใจว่ารถเฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ 2 และเมื่อลงจากรถแล้วเห็นรถจำเลยที่ 2 เสียหายจากการเฉี่ยวชนกับรถจำเลยที่ 1 ที่กันชนหน้าขวา กับตัวถังรถด้านขวาตรงส่วนใต้กระจกมองข้างมีรอยสีถลอกและจำเลยที่ 1ได้ให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งให้การภายหลังเกิดเหตุแต่ในวันเดียวกับวันเกิดเหตุนั้นเองว่า รถจำเลยที่ 1ด้านซ้ายค่อนมาด้านหน้ารถได้เฉี่ยวถูกบริเวณหน้ารถจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย ยังไม่มีเวลาที่จะคิดปรุงแต่งเรื่องขึ้น คำให้การในชั้นสอบสวนในข้อนี้จึงน่าเชื่อว่าได้ให้การไปตามความจริงและในชั้นศาลจำเลยที่ 1ได้เบิกความยืนยันในข้อนี้อีก จึงเป็นการเจือสมกับคำพยานโจทก์ดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ยังมีร้อยตำรวจโททอง ควรขจรผู้ตรวจพิสูจน์รถจำเลยที่ 2 ที่พนักงานสอบสวนส่งไปให้ตรวจในวันที่ 26 กันยายน 2527 เป็นพยานว่า ได้ตรวจพบรถจำเลยที่ 2มีการเปลี่ยนกันชนหน้าใหม่ และพ่นสีใหม่บริเวณตัวถังด้านหน้าได้ทำรายงานการตรวจพิสูจน์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.11 และยังปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.15 ว่ารุ่งขึ้นเช้าจากวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไปทำงานที่เขต จะขับรถตามปกติ แต่ได้รับแจ้งว่าได้ส่งรถคันที่จำเลยที่ 2 ขับเข้าซ่อมแซมแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ได้ทราบจากคำบอกเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 10 วัน มีพนักงานขับรถคันอื่นมาขับรถคันเกิดเหตุแทนจำเลยที่ 2 ได้ขับไปเฉี่ยวชนกับรถอื่น โดยมีรอยเฉี่ยวชนที่ด้านหน้ารถค่อนไปทางซ้าย แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่ารอยซ่อมแซมรถจำเลยที่ 2 ที่ร้อยตำรวจโททองตรวจพบดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.16ภาพที่ 4 อยู่ที่มุมหน้ารถด้านขวาจึงเป็นคนละแห่งกัน และตามผลการตรวจพิสูจน์ของร้อยตำรวจโททองก็ไม่พบรอยซ่อมแซมรถจำเลยที่ 2 ที่ด้านหน้าค่อนไปทางซ้ายแต่อย่างใด ฉะนั้นการซ่อมแซมรถจำเลยที่ 2 ในวันรุ่งขึ้น จากวันเกิดเหตุจึงไม่ใช่ซ่อมแซมรอยเฉี่ยวชนที่พนักงานขับรถคนอื่นขับไปเฉี่ยวชนก่อนวันเกิดเหตุประมาณ 10 วัน ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่เป็นการซ่อมแซมพ่นสีใหม่ตรงมุมหน้ารถด้านขวาและเปลี่ยนกันชนหน้าใหม่เนื่องจากถูกรถจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนเอาดังคำเบิกความของพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 นำสืบรับว่า ได้ขับรถล้ำเข้าไปจอดเลยทางม้าลายเข้าไปในสี่แยกประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงที่ห้ามไม่ให้ขับรถออกไปจากเส้นให้รถหยุด และตามที่จำเลยที่ 2 นำสืบอีกว่า สัญญาณไฟจราจรด้านจำเลยที่ 2 ได้เปลี่ยนเป็นสีเขียวแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงได้ขับรถเข้าไปในสี่แยกได้ประมาณ 5 เมตร ก็มีรถจำเลยที่ 1 แล่นเข้ามาในสี่แยกจากถนนรัชดาภิเษก จำเลยที่ 2 จึงห้ามล้อรถให้หยุด นั้นเห็นว่า หากเป็นดังที่จำเลยที่ 2 นำสืบแล้วรถจำเลยที่ 1 ซึ่งแล่นเข้ามาในสี่แยกด้วยความเร็ว รถจำเลยที่ 2 เพียงขับเข้าสี่แยกช้า ๆ ได้ประมาณ 5 เมตรเท่านั้น ซึ่งยังไม่ถึงช่องทางที่จะขวางทางรถจำเลยที่ 1 รถจำเลยที่ 1 จะต้องแล่นผ่านหน้ารถจำเลยที่ 2ไปได้โดยสะดวก ไม่จำเป็นต้องหักหลบรถจำเลยที่ 2 จนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนหน้ารถจำเลยที่ 2 แล้วเสียหลักพุ่งไปชนผู้เสียหายกับรถผู้เสียหายจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ขึ้น และนายกุหลาบ์พยานจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ได้ร้องบอกจำเลยที่ 2 ว่า รถสองแถวมา จำเลยที่ 2 จึงหยุดรถ รถสองแถวหักหลบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารถจำเลยที่ 2 ได้ขับเข้าไปในสี่แยกขวางทางรถจำเลยที่ 1 แล้ว รถจำเลยที่ 1 ถึงต้องหักหลบเป็นการเจือสมคำพยานโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 2 ขับรถเข้าไปในสี่แยกขวางทางรถจำเลยที่ 1 ในขณะที่สัญญาณไฟจราจรในเส้นทางรถจำเลยที่ 2 ยังเป็นไฟสีแดงอยู่ และไปขวางทางรถจำเลยที่ 1 จนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น จำเลยที่ 2 จึงมีความประมาทในการขับรถยนต์ และด้วยความประมาทของจำเลยที่ 2เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจำเลยที่ 1 มาเฉี่ยวชนรถจำเลยที่ 2แล้วเสียหลักพุ่งเข้าชนผู้เสียหายกับรถของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายดังมีรายนามตามฟ้องได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 2 จึงต้องมีความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัสตามที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300, 390 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป
จำเลยที่ 2 ขับรถมาตามถนนพหลโยธินจากสามแยกเกษตร มุ่งหน้าไปทางลาดพร้าว เมื่อถึงสี่แยกพหลโยธินตัดกับถนนรัชดาภิเษกสัญญาณไฟจราจรเป็นสีแดง จำเลยที่ 2 ได้ขับรถเคลื่อนอย่างช้า ๆฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงเข้าไปในสี่แยกจนเลยเส้นสีขาวที่กำหนดให้รถหยุดประมาณ 10 เมตรเกือบถึงกลางสี่แยก รถจำเลยที่ 2 จึงขวางทางรถจำเลยที่ 1 ซึ่งแล่นมาด้วยความเร็วจากถนนรัชดาภิเษกด้านถนนวิภาวดีรังสิตมุ่งหน้าไปตามถนนรัชดาภิเษกเข้าไปในสี่แยกรถจำเลยที่ 1 ห้ามล้อและหักกลบเฉี่ยวชนรถจำเลยที่ 2 แล้วเสียหลักไปทางขวาไปชนรถที่จอดรอสัญญาณไฟจราจรในถนนรัชดาภิเษกด้านที่มาจากลาดพร้าวและชนผู้เสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุโดยตรงทำให้รถจำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถจำเลยที่ 2 และชนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัส จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300,390 และมีความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21,22,43,152,157