Home บทความคดีแพ่ง จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกง หรือความผิดฐานลักทรัพย์

จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกง หรือความผิดฐานลักทรัพย์

1431

จุดที่ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดฐานฉ้อโกง หรือความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3162/2536

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของธนาคารกรุงเทพจำกัด ผู้เสียหายตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยบริการ 11 ประจำธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพะเยา อันเป็นสำนักงานสาขาของผู้เสียหาย มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการปฏิบัติงานประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ และอนุมัติฝากถอนเงินกรณีเกินอำนาจของพนักงานอื่น ร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกค้าของผู้เสียหายมีบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์อยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาสะพานใหม่ดอนเมือง เลขที่ 1340838000 โอนบัญชีเงินฝากดังกล่าวมายังธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพะเยา เป็นเงินต้นจำนวน 12,015.66 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 39.82 บาท เมื่อวันที่1 มีนาคม 2532 เปิดบัญชีเลขที่ 2950658886 จำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสที่ตนมีตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวป้อน ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ตัวเลขจำนวนดอกเบี้ยในบัญชีสูงจากจำนวนจริง 39.82 บาทเป็นจำนวน 398,200 บาท นับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์2532 ภายหลังจำเลยทั้งสองสมคบกันเบิกถอนเงินเป็นจำนวน 10,000 บาทไปและรอให้บัญชีคงอยู่จนพ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2532 อันเป็นวันที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยโดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะคำนวณดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดไปรวมกับยอดต้นเงิน ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2532จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเงินจำนวน 2,000 บาท เข้าฝากในบัญชีดังกล่าวเพื่อให้รายการดอกเบี้ยที่ป้อนข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์สูงกว่าความเป็นจริง ปรากฏรายการในสมุดคู่ฝากเป็นเงินจำนวน402,286.44 บาท ทั้งที่ความจริงต้องเป็นเงินจำนวน 4,126.26 บาทวันเดียวกันนั้นและวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 จำเลยทั้งสองร่วมกันเบิกถอนเงินจำนวน 200,000 บาท และจำนวน 202,000 บาท ตามลำดับรวมเป็นเงิน 402,000 บาท อันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายจากบัญชีดังกล่าวไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7), (11), 83, 33 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน402,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบเงินจำนวน 4,126.26 บาทที่จำเลยใช้ในการกระทำผิดหรือจัดเป็นการใช้คืนแก่ผู้เสียหายบางส่วน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(7)(11) วรรคสอง, 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7), 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 402,000 บาท แก่โจทก์ร่วม คืนเงินจำนวน 4,126.26 บาทของกลางแก่จำเลยที่ 2 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกโจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ภาค 2ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม สาขาพะเยาตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการบริการ 11 และเป็นผู้ควบคุมเงินฝากไม่เกิน 1,000,000 บาท และมีอำนาจอนุมัติให้ถอนเงินในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 เดิมเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ที่สาขาสะพานใหม่ดอนเมือง จำเลยที่ 2ได้โอนบัญชีเงินฝากดังกล่าวซึ่งมีเงินต้น 12,015.66 บาทและดอกเบี้ย 39.82 บาท ไปฝากต่อที่สาขาพะเยาของโจทก์ร่วมจำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีได้ และจำเลยที่ 1ได้บันทึกรายการลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ระบุว่าจำเลยที่ 2มีเงินฝากเงินต้น 12,015.66 บาท และดอกเบี้ย 389,200 บาทมากกว่าความเป็นจริงต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินจากบัญชีจำนวน200,000 บาท และต่อมาถอนอีก 202,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุมัติ เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเงินฝากในบัญชีคือดอกเบี้ยมากกว่าความเป็นจริงมิใช่เป็นการหลอกลวงให้โจทก์ร่วมส่งมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของธนาคารโจทก์ร่วม สาขาพะเยาตำแหน่งเจ้าหน้าที่อำนวยการบริการ และเป็นผู้ควบคุมเงินฝากไม่เกิน 1,000,000 บาท และมีอำนาจอนุมัติให้ถอนเงินในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท จำเลยที่ 2 เดิมเป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมเปิดบัญชีสะสมทรัพย์ที่สาขาสะพานใหม่ดอนเมืองจำเลยที่ 2 ได้โอนบัญชีเงินฝากดังกล่าวซึ่งมีเงินต้น12,015,.66 บาท และดอกเบี้ย 39.82 บาท ไปฝากต่อที่สาขาพะเยา จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีได้ และจำเลยที่ 1 ได้บันทึกรายการลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ระบุว่าจำเลยที่ 2 มีเงินฝากเงินต้น 12,015.66 บาทและดอกเบี้ย 398,200 บาท มากกว่าความเป็นจริง ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินจากบัญชีจำนวน 200,000 บาท และ ต่อมาถอนอีก 202,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ ลงลายมือชื่ออนุมัติ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหลอกลวง ให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเงินฝากในบัญชีคือ ดอกเบี้ยมากกว่าความเป็นจริง มิใช่เป็นการหลอกลวงให้โจทก์ร่วม ส่งมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

Facebook Comments