Home บทความคดีแพ่ง ทำใบเบิกทดลองจ่ายเกินจริง มีความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงหรือไม่

ทำใบเบิกทดลองจ่ายเกินจริง มีความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงหรือไม่

1882

ทำใบเบิกทดลองจ่ายเกินจริง มีความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2540 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยเอาเงินของบริษัทมิตซุย – โซโค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยไปโดยทุจริต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,483,984 บาท จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 9460/2543 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,335 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 9460/2543 คดีหมายเลขแดงที่ 8113/2546 ศาลชั้นต้น และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 8,483,984 บาท แก่โจทก์ร่วมด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา บริษัทมิตซุย – โซโค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำนวน 353 กระทง การลักทรัพย์แต่ละครั้งมีจำนวนเงินโดยเฉลี่ยวันละมากกว่า 20,000 บาท ถือได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่สูง เมื่อรวมทั้งหมดแล้วเป็นจำนวนเงิน 8,441,544 บาท นับว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 1,059 ปี แต่ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 8,441,544 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8113/2546 ของศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณาก่อนก็คือ การนำหลักฐานใบสำคัญจ่ายพร้อมใบแจ้งหนี้ไปยื่นให้บริษัทลูกค้าเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายคือ ค่าเบี้ยประกัน ค่าผ่านท่าและค่ารถยกตู้สินค้า จำเลยได้แสดงใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องแท้จริงของบริษัทคู่สัญญาด้วยหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบพยานโดยมีนางอัญชัน พนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทสามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) เบิกความยืนยันว่า บริษัทลูกค้าชำระค่าเบี้ยประกันภัยเองจึงไม่ต้องเรียกเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากโจทก์ร่วม เพียงแต่มีการส่งใบแจ้งหนี้ผ่านโจทก์ร่วมเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทลูกค้าเท่านั้น และมีนายน้ำเงิน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลย นางสาวลั่นทม พนักงานของบริษัทเอ็น.วาย.เค.ชิปปิ้ง เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด นายเฟื่องฟ้า ผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัทเคไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด นายเทียนกิ่ง ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการบริษัทไทยโอเซียน เทรดดิ้ง แอนด์ ชิปปิ้ง จำกัด และนายมะเกลือ กรรมการผู้จัดการบริษัทเบ็ทเตอร์เฟลท แอนด์ ทรานสปอร์ท จำกัด ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นผู้ออกใบเสร็จค่าผ่านท่าและค่ารถยกให้โจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าในความเป็นจริงไม่มีการเรียกเก็บค่าผ่านท่าและค่ารถยกจากโจทก์ร่วม เพราะบริษัทลูกค้าทำสัญญาชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเองโดยไม่ผ่านโจทก์ร่วม จึงไม่ต้องออกใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นพยานคนกลางและเบิกความสอดคล้องกันโดยไม่มีข้อพิรุธ นายองุ่น พยานจำเลยซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยก็เบิกความเจือสมว่า พยานไม่เคยเห็นใบเสร็จรับเงินค่าผ่านท่าและค่ารถยก คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกันว่าตำแหน่งหน้าที่งานของจำเลยจะต้องจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง หากมีใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องแท้จริงของบริษัทที่จำเลยได้จ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ไปอยู่จริง จำเลยก็น่าจะต้องถ่ายสำเนาใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้ถ่ายสำเนาใบเสร็จรับเงินเก็บไว้เลยนั้น เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยอย่างยิ่ง เพราะข้อเท็จจริงปรากฏจากที่นายน้ำเงินพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยเคยถ่ายสำเนาใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ร่วมมีหน้าที่ต้องจ่ายไว้ ข้ออ้างของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยเคยขอหมายเรียกใบเสร็จรับเงินไปยังโจทก์ร่วมและบริษัทลูกค้าแล้ว แต่ไม่มีการส่งมายังศาลนั้น หากจำเลยจะตรวจสอบใบเสร็จรับเงินจำเลยก็น่าจะต้องขอหมายเรียกคู่ฉบับใบเสร็จรับเงินมาจากบริษัทที่จำเลยจ่ายเงินให้ไปมากกว่า แต่หาได้กระทำไม่ จึงยิ่งเป็นข้อพิรุธ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายแทนบริษัทลูกค้าในส่วนค่าเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ายกรถ ดังนั้น การที่จำเลยจัดทำใบสำคัญจ่ายเบิกเงินล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยกระทำการโดยสุจริตตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และเมื่อบริษัทลูกค้ายอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วมย่อมแสดงว่าได้ตรวจดูใบเสร็จรับเงินครบถ้วนแล้วนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกเงินทดรองจ่ายไปโดยอ้างว่ามีค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่จริงและมีใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมไม่มีหน้าที่ต้องทดรองค่าใช้จ่ายดังกล่าวดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงขัดต่อเหตุผลและเป็นพิรุธ ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยมีการแก้ไขยอดเงินจำนวนรวมในตอนท้ายให้ลดเหลือไม่เกิน 2,000 บาท ทุกฉบับ เพื่อให้ใบสำคัญจ่ายเบิกเงินล่วงหน้าที่จำเลยจัดทำแต่ละฉบับมียอดเงินไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งจะทำให้จำเลยสามาถเบิกเงินทดรองจ่ายเป็นเงินสดได้ตามระเบียบของโจทก์ร่วม อีกทั้งนายดอกบัว พนักงานส่งเอกสารของบริษัทเบสเตอร์ เฟลท แอนด์ทรานสปอร์ต จำกัด ก็เบิกความว่า พยานเป็นผู้มาเก็บเงินจากจำเลยโดยได้รับเป็นเช็คแต่ไม่เคยได้รับเป็นเงินสดจากจำเลย ดังนั้น หากจำเลยถูกหลอกลวงดังที่อ้างแล้ว จำเลยก็น่าจะต้องจ่ายเงินทดรองในส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่มีอยู่จริงซึ่งเบิกมาเป็นเงินสดให้แก่นายดอกบัวไปด้วยแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแยกจ่ายเฉพาะเงินสดให้แก่พนักงานชื่ออ้อยดังที่จำเลยอ้าง จึงส่อแสดงให้เห็นพิรุธว่าเป็นความประสงค์ของจำเลยเองที่ต้องการจะเบิกเงินสด ทั้งนี้ก็เพราะว่าเช็คระบุชื่อผู้รับเงินนั้นยากที่จะนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้ นอกจากนี้เมื่อบริษัทลูกค้าตรวจสอบพบในระยะแรกจำเลยก็รีบนำเงินส่วนตัวจำนวนรวมประมาณ 600,000 บาท ซื้อเช็คเงินสดมาคืนให้แก่บริษัทลูกค้าในลักษณะทันที ทั้งที่ขณะนั้นจำเลยมีเงินเดือนที่รับจากโจทก์ร่วมเพียงเดือนละ 18,000 บาท กับค่าทำงานล่วงเวลาอีกเพียงเดือนละประมาณ 4,000 บาท ซึ่งหากจำเลยไม่ได้กระทำผิดและไม่กังวลว่าจะถูกตรวจสอบย้อนหลังเพิ่มเติมต่อไป ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องยอมรับผิดเองเป็นส่วนตัวเช่นนั้น จึงเป็นพิรุธอีกเช่นเดียวกัน ที่จำเลยฎีกาว่าการทุจริตเกิดจากผู้บริหารของโจทก์ร่วมและบริษัทลูกค้าร่วมกันเป็นขบวนการโดยที่จำเลยไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีทางที่จำเลยจะเบิกเงินมาเป็นเวลาสิบปี มีผู้อนุมัติการเบิกเงินนับสิบคนและเป็นเงินไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาทได้นั้น เห็นว่า การเบิกเงินทดรองจ่ายแทนบริษัทลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายใดบ้างนั้นอยู่ในความรู้เห็นและหน้าที่ของจำเลยโดยเฉพาะ ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานให้ผู้อื่นตรวจสอบได้ การที่โจทก์ร่วมยอมให้จำเลยเบิกเงินทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่ไม่มีอยู่จริงได้จึงน่าจะเป็นเพราะจำเลยยืนยันว่ามีใบแจ้งหนี้หรือใบเสร็จรับเงิน และในข้อนี้ได้ความจากนายน้ำเงินพยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่อนุมัติใบเบิกเงินทดรองจ่ายของจำเลยเบิกความว่า จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดทุกขั้นตอนตั้งแต่บริษัทลูกค้าแจ้งรายละเอียดสินค้าจนกระทั่งได้รับชำระเงินทดรองจ่ายคืนจากบริษัทลูกค้า เมื่อจำเลยขอเบิกเงิน พยานจะตรวจสอบเพียงคร่าวๆ ว่ามีงานเกิดขึ้นจริงและในทางปฏิบัติจะผ่อนผันให้เบิกเงินไปได้โดยไม่ต้องแนบใบเสร็จรับเงินเพื่อความรวดเร็ว ต่อมาจำเลยก็อ้างว่าได้ส่งต้นฉบับใบเสร็จรับเงินไปให้แก่บริษัทลูกค้าแล้วพยานเพิ่งทราบว่าโจทก์ร่วมไม่มีหน้าที่ต้องทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวแทนบริษัทลูกค้าซึ่งสอดคล้องกับที่นางสาวมะดัน พนักงานบัญชีของโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าการเบิกเงินทดรองจ่ายไม่ต้องมีเอกสารยื่นแนบประกอบ หากมีผู้อนุมัติฝ่ายบัญชีก็จะจ่ายเงินไป แม้แต่นางดาวเรือง พยานจำเลยเองยังเบิกความเจือสมกันอีกว่า เมื่อสายการเดินเรือแจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายมาทางโทรศัพท์ โจทก์ร่วมจะต้องนำเงินชำระทันที จะเสียเวลารอใบแจ้งหนี้หรือใบเสร็จรับเงินก่อนไม่ได้ สำหรับเงินเบิกทดรองจ่ายของแผนกส่งออกเป็นค่าใช้จ่ายของลูกค้า ฝ่ายบัญชีจึงไม่ได้ดูแลในเรื่องนี้ในส่วนของบริษัทลูกค้าก็ปรากฏจากที่นางมะยม พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทลูกค้าเบิกความว่า ในทางปฏิบัติแม้จะมีใบเสร็จรับเงินไม่ครบถ้วน แต่ในกรณีของโจทก์ร่วมบริษัทลูกค้ามักจะยอมจ่ายค่าใช้จ่ายให้ไปก่อนแล้วส่งเรื่องต่อให้ฝ่ายบัญชี พฤติการณ์ดังกล่าวมานี้จึงย่อมเป็นโอกาสของจำเลยที่จะแอบอ้างว่ามีใบเสร็จรับเงินและหาเหตุไม่แสดงใบเสร็จรับเงินในทุกขั้นตอนได้ แม้การกระทำในลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นมานานต่อเนื่องหลายปีเป็นจำนวนหลายพันครั้ง และเป็นจำนวนเงินมากเป็นสิบล้านบาท แต่การกระทำในแต่ละครั้งก็เป็นเงินจำนวนน้อย ทั้งธุรกิจของโจทก์ร่วมยังต้องปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็วและเกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบแจ้งหนี้ก็มิได้แยกแยะรายละเอียดค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน ตามพฤติการณ์จึงมิใช่ว่าจำเลยจะใช้โอกาสที่เป็นผู้มีหน้าที่เบิกเงินและจ่ายเงินกระทำผิดเองไม่ได้ดังที่จำเลยอ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยจัดทำใบสำคัญจ่ายเบิกเงินล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ารถยกจากโจทก์ร่วม อันเป็นข้อความเท็จหลอกลวงโจทก์ร่วมจนได้ไปซึ่งเงินจากโจทก์ร่วม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างโดยใช้กลอุบายนั้น เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายอ้างว่ามีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงมิใช่เอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทลูกค้าเริ่มตรวจสอบพบความจริงและทักท้วงโจทก์ร่วมเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2541 หลังจากนั้นโจทก์ร่วมจึงรู้ว่าถูกหลอกลวงและไปแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2541 ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ความผิดฐานฉ้อโกงจึงยังไม่ขาดอายุความ แม้โจทก็จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์นายจ้างนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งศาลฎีกาจะต้องกำหนดโทษใหม่ให้เหมาะสม จงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่าสมควรลดโทษให้จำเลยอีกหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีของศาลแรงงานกลางนั้น เห็นว่า แม้คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้ที่พนักงานอัยการฟ้องและขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นการฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในมูลความผิดลักษณะเดียวกันเป็นหลายคดี การที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษต่อจึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) นั้น เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระทำผิดในคดีนี้และคดีอื่นนั้น จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นพนักงานกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยมีเจตนาฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไป คดีนี้และคดีอื่นจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วจึงย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) บัญญัติไว้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 353 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 1,059 เดือน แต่เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี จึงลงโทษจำคุกได้เพียง 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้นับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ 8113/2546 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Facebook Comments