ผู้รับเหมาไม่ยอมก่อสร้าง ให้เป็นไปตามแบบแปลนที่ตกลง ผู้จ้างมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2269/2521
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตกลงให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารคริสต์จักรตกลงราคารวมทั้งค่าสิ่งของสัมภาระและค่าแรงงานเป็นเงิน ๑,๒๘๗,๖๐๐ บาท โดยจะชำระเป็น ๕ งวดตามผลของงาน โจทก์ลงมือก่อสร้างตามสัญญาและตามคำสั่งของสถาปนิกผู้ควบคุมงานของจำเลยตลอดมา จนงานก่อสร้างงวดที่ ๑ เกือบแล้วเสร็จ จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์หยุดงานก่อสร้างไว้ก่อน เพราะกรมโยธายังไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง การสั่งหยุดงานดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงให้จำเลยมาตกลงกัน จำเลยกลับบ่านเบี่ยงและเลิกสัญญากับโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์คือ ค่าแรงงานก่อนสร้างค่าวัสดุและค่าขาดผลกำไร รวมเป็นเงิน ๓๗๒,๖๔๐ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยยังไม่ได้ตกลงให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่โจทก์ลงมือก่อสร้างไปก่อนเอง ต่อมาจำเลยได้รับแจ้งจากกรมโยธาว่าแบบแปลนไม่เรียบร้อยจึงให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อน การก่อสร้างของโจทก์ที่ทำไปนั้นผิดแบบแปลนแผนผัง จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกไม่ให้โจทก์ก่อสร้างได้โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๒๙๓,๔๔๒ บาท กับดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่านายชมพู่ผู้ควบคุมงานฝ่ายจำเลยที่ ๑ เป็นคนสั่งให้โจทก์ก่อสร้างฐานรากบางกว่าที่กำหนดไว้ในแบบแปลน โดยบอกว่าทานน้ำหนักพอแล้ว และขอให้โจทก์เพิ่มขนาดเสาจาก ๑๗ เซนติเมตร เป็น ๒๐ เซนติเมตร ตามข้อนำสืบของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ นำสืบว่านายชมพู่มีหน้าที่เพียงควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนเท่านั้น นายชมพู่ไม่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการดูแลการก่อสร้างซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ ๑ นายดาหลายัง นายฟ้า และนายขนุน ศาลฎีกาเห็นว่านายชมพู่เป็นเพียงผู้ควบคุมงานฝ่ายจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ และโจทก์มิได้นำสืบว่านายชมพู่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนได้ จึงเชื่อว่านายชมพู่มีหน้าที่ควบคุมให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนเท่านั้น ไม่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการดูแลการก่อสร้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ มีจำเลยที่ ๒ เบิกความว่า นายชมพู่ไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการดูแลการก่อสร้างทราบว่า อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างฐานรากผิดไปจากแบบแปลน และมีจำเลยที่ ๒ กับนายขนุนเบิกความว่า จำเลยที่ ๒ และนายขนุนเพิ่งทราบว่าโจทก์ก่อสร้างฐานรากบางกว่าแบบแปลนจากนายชบา เมื่อต้นพฤษภาคม ๒๕๑๕ ส่วนโจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ หรือคณะกรรมการดูแลการก่อสร้างของจำเลยที่ ๑ ยินยอมหรืออนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างฐานรากบางกว่าแบบแปลนทั้งนายมะดันผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ก็เบิกความว่า ที่นายชมพู่สั่งให้ก่อสร้างฐานรากบางกว่าแบบแปลนนั้น จะได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือไม่ ไม่ทราบ พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าที่นายชมพู่สั่งให้โจทก์ก่อสร้างฐานรากบางกว่าแบบแปลนนั้นได้รับความยินยอมหรืออนุญาตจากจำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ หรือคณะกรรมการดูแลการก่อสร้างของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๒ ไปที่สถานที่ก่อสร้างทุกวันและการที่จำเลยที่ ๒ บอกนายทานตะวันทนายความว่า จำเลยที่ ๒ ทราบว่าฐานรากที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบแปลนนั้นยังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ ๒ รู้เห็นยินยอมให้โจทก์ก่อสร้างฐานรากบางกว่าแบบแปลน การที่โจทก์ก่อสร้างฐานรากบางกว่าแบบแปลนโดยที่จำเลยที่ ๑ หรือ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ไม่ยินยอมหรืออนุญาต โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ไม่ยอมแก้ไขฐานรากให้เป็นไปตามแบบแปลนโดยอ้างว่าได้ก่อสร้างไปตามคำสั่งของนายชมพู่ จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ทั้งปรากฏว่าฐานรากที่โจทก์ก่อสร้างบางกว่าแบบแปลน จะแก้ไขให้ถูกต้องไม่ได้ นอกจากรื้อฐานรากนั้นทิ้งแล้วก่อสร้างฐานรากใหม่เท่านั้น ฐานรากที่โจทก์ก่อสร้างจึงไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดกำไรและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจากจำเลยที่ ๑ และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ ๑
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
สรุป
โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารให้จำเลย โจทก์สร้างฐานรากอาคารบางกว่าแบบแปลนที่กำหนดไว้ แม้ได้กระทำไปตามที่ผู้ควบคุมงานของจำเลยเป็นผู้สั่ง แต่เมื่อผู้ควบคุมงานมีหน้าที่ควบคุมให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลน ไม่มีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยหรือคณะกรรมการดูแลการก่อสร้างของจำเลยการที่โจทก์ก่อสร้างฐานรากอาคารบางกว่าแบบแปลนจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และเมื่อโจทก์ไม่ยอมแก้ไขฐานรากให้ถูกต้อง จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
ฐานรากที่โจทก์ก่อสร้างบางกว่าแบบแปลนจะแก้ไขให้ถูกต้องไม่ได้ นอกจากรื้อทิ้งแล้วก่อสร้างใหม่ ฐานรากที่โจทก์ก่อสร้างไว้จึงไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดกำไร และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจากจำเลย