Home บทความ ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างคืน เพราะก่อสร้างผิดแบบได้หรือไม่

ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างคืน เพราะก่อสร้างผิดแบบได้หรือไม่

2318

ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างคืน เพราะก่อสร้างผิดแบบได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 423/2548

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์สร้างอาคารสองชั้นครึ่ง 7 ห้องนอน ในราคา 740,000 บาท ตามแบบแปลนที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียน และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมและผิดแบบแปลนที่สำนักงานเทศบาลเมืองภูเก็ตอนุญาต ต่อมาสำนักเทศบาลเมืองภูเก็ตมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสาม และแจ้งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารทั้งหมดแล้วก่อสร้างใหม่ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมหรือแทนกันชำระเงิน 1,052,812.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 650,000 บาท นับถัดจากวันฟัองเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 นับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 เมษายน 2539) ให้ไม่เกิน 52,812.50 บาท ตามที่ขอ และให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารที่สร้างออกจากที่ดินของโจทก์ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 เอง หากไม่รื้อถอนให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 รับจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารสองชั้นครึ่ง ในราคา 780,000 บาท ระหว่างการก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ไปเป็นเงิน 650,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 เทศบาลเมืองภูเก็ตมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง เนื่องจากการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ย่อมจะต้องมีแบบแปลนรายละเอียดการก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเพื่อยื่นแบบขออนุญาตต่อทางเทศบาล ทั้งผู้รับจ้างจะต้องนำแบบมาคำนวณเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อคิดค่าจ้างจากผู้ว่าจ้าง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าโจทก์เขียนแบบแปลนคร่าวๆ ในเศษกระดาษ แต่จำเลยที่ 1 ก็หานำแบบแปลนที่อ้างว่าโจทก์เขียนให้มาแสดงต่อศาลเพื่อสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวไม่ และได้ความจากตัวจำเลยที่ 1 เองว่าทราบว่าโจทก์ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 เป็นช่างเขียนแบบ และได้ตอบคำถามของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ทางเทศบาลเมืองภูเก็ตอนุญาตให้ก่อสร้างได้ตามแบบแปลนที่ขออนุญาตไว้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2538 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องนำแบบแปลนมาให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างแล้วก่อนเดือนมกราคม 2538 และตามรายการเบิกเงินแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว จึงหยุดทำการก่อสร้าง ย่อมจะต้องมีแบบการก่อสร้าง พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานใดมาสนับสนุน ทั้งขัดต่อเหตุผล จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารตามแบบแปลน และได้ความจากนายมินตรา พยานโจทก์ว่า เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2538 โจทก์มาตามพยานให้ไปดูการก่อสร้างว่าได้สร้างแบบแปลนหรือไม่ ปรากฏว่าการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบ เช่น ตำแหน่งของคานไม่ตรงตามแบบ ขนาดของเหล็กเล็กและจำนวนน้อยกว่าที่ระบุไว้ในแบบ ขนาดของคานก็เล็กกว่าและความลึกของคานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในแบบ นอกจากนี้นายทองหลาง สุวัณณาคาร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความยืนยันว่า พยานเป็นผู้ออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเนื่องจากแนวผนังอาคารและแนวคานไม่ตรงกันและไม่ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนที่ขออนุญาตไว้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างก่อสร้างและเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างครั้งนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความรู้ในด้านก่อสร้างแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าการก่อสร้างถูกแบบแปลนหรือไม่ เมื่อการก่อสร้างไม่ถูกแบบแปลนตามที่ขออนุญาตไว้ จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว

ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของงานที่ทำการก่อสร้างผิดแบบแปลน เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 หยุดทำการก่อสร้าง (วันที่ 18 มีนาคม 2538) ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารชำรุดบกพร่องตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาแต่อย่างใด แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 รับไปคืนมา เมื่อกฎหมายมิได้กำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินคืน คือวันที่ 3 ตุลาคม 2538 เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 10 เมษายน 2539 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารสองชั้นครึ่ง ต่อมาเทศบาลเมืองภูเก็ตมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างก่อสร้างและเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างครั้งนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าการก่อสร้างถูกแบบแปลนหรือไม่ เมื่อการก่อสร้างไม่ถูกแบบแปลนตามที่ขออนุญาตไว้จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว

การฟ้องเรียกเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 รับไปคืนมานั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

Facebook Comments