หลอกลวงพนักงานของผู้เสียหาย ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16889/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 3,147,450 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาเมื่อสืบพยานโจทก์ไปได้บางส่วนแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 70 กระทง จำคุก 280 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 140 ปี แต่ความผิดที่กระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี เมื่อลดโทษและรวมโทษทุกกระทงจึงให้ลงโทษจำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 3,147,450 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 69 จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 335 (11) วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานฉ้อโกง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 69 กระทง จำคุก 138 ปี ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างอีกหนึ่งกระทง จำคุก 2 ปี รวม 70 กระทง เป็นจำคุก 140 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 70 ปี แต่เนื่องจากความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างซึ่งเป็นความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินห้าปี จึงลงโทษจำคุกจำเลยได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 69 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำไม่ถึงห้าปี ศาลไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานก่อนจะพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย เมื่อระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2551 จำเลยกระทำความผิดโดยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าดังกล่าวไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำตามที่จำเลยอ้างมา จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว โดยไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อจำเลยบอกพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายว่า สร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้วเอาเงินของผู้เสียหายไป จึงมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำ การที่จำเลยได้เงินของผู้เสียหายไปจึงเกิดจากการที่พนักงานเก็บเงินซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงของจำเลย การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 69 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
สรุป
จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายซึ่งประกอบอาชีพค้าขายทองคำและเป็นผู้จัดการร้าน มีหน้าที่ขายทองคำของผู้เสียหายให้แก่ลูกค้า และยังมีหน้าที่รับจำนำทองคำของลูกค้าด้วย จำเลยใช้กลอุบายนำสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายที่จำเลยมีหน้าที่ขายให้แก่ลูกค้าไปบอกแก่พนักงานเก็บเงินในร้านของผู้เสียหายว่าเป็นของลูกค้าที่นำมาจำนำแก่ทางร้าน เมื่อพนักงานเก็บเงินส่งมอบเงินซึ่งเป็นของผู้เสียหายที่จะต้องนำไปมอบให้แก่ลูกค้าที่นำทรัพย์มาจำนำให้แก่จำเลยตามที่จำเลยอ้าง จำเลยก็รับเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตน การกระทำของจำเลยมิใช่เอาเงินของผู้เสียหายไปโดยพลการโดยทุจริต หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือทองคำ แหวนทองคำ และแหวนพลอยของผู้เสียหายเป็นของลูกค้าที่