Home บทความคดีแพ่ง ไม่ได้นำเงินไปให้ผู้อื่นกู้ยืม ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

ไม่ได้นำเงินไปให้ผู้อื่นกู้ยืม ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

2217

ไม่ได้นำเงินไปให้ผู้อื่นกู้ยืม ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2547

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 91 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 106,826,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางการะเกด ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 5, 12 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 19,251,000 บาท โจทก์ร่วมจำนวน 24,905,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 5,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 3,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 400,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 3,720,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กรกฎาคม 2539) เป็นต้นไปจนว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีจ่าสิบเอกมะพลับ ผู้เสียหายที่ 1 นางการะเกด โจทก์ร่วม นายกระดังงา ผู้เสียหายที่ 3 นายส้ม ผู้เสียหายที่ 4 นายขนุน ผู้เสียหายที่ 5 นายมะเดื่อ ผู้เสียหายที่ 6 และนายเขียว ผู้เสียหายที่ 7 เป็นพยานเบิกความได้ความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 มาติดต่อขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกอ้างว่าจะนำเงินกู้ดังกล่าวไปลงทุนในสหกรณ์ทหารและปล่อยกู้แก่บุคคลทั่วไป โดยเสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนและร้อยละ 20 ต่อเดือน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกหลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปหลายครั้งและมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่ต้องการตามกำหนดนัด ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวจะทำหนังสือสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อจำเลยที่ 1 นำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระก็จะฉีกหนังสือสัญญากู้ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นน้องชายจำเลยที่ 1 และอยู่บ้านเดียวกัน เคยไปรับเงินจากโจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 7 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ร่วมจำนวน 24,905,000 บาท ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 19,251,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 8,300,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 3,000,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 500,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 3,720,000 บาท และผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 900,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยตรงตามกำหนดนัด โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกติดตามทวงถาม แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนแล้วหลบหนีไป และโจทก์ โจทก์ร่วมมีจ่าสิบเอกม่วง นายชมนาด เบิกความสนับสนุน โดยจ่าสิบเอกม่วงเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เคยไปรับเช็คและเงินสดจากผู้เสียหายที่ 1 และเคยเห็นจำเลยที่ 1 นำเงินใส่ถุงกระดาษมามอบให้ผู้เสียหายที่ 1 โดยทราบว่าเงินที่จำเลยที่ 1 รับจากผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 นำไปให้ผู้อื่นกู้ยืมต่อและทราบว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คมอบให้จำเลยที่ 2 นำไปเบิกเงินจากธนาคาร ส่วนนายชมนาดและสิบเอกกิตินันท์เบิกความทำนองเดียวกันว่า เคยไปธนาคารกับจำเลยที่ 2 ซึ่งนำเช็คไปเบิกเงิน นอกจากนี้จ่าสิบตำรวจยี่หุบ ผู้จับกุม และพันตำรวจโทน้ำเงิน สายถิ่น พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันฉ้อโกงและแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในชั้นสอบสวนว่า ร่วมกันกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระโดยจ่ายหรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4 และ จ.26 เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่แรกเริ่มที่จำเลยที่ 1 มาติดต่อขอกู้ยืมเงินอ้างว่าจะนำไปลงทุนในสหกรณ์ทหารที่จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ฝ่ายการเงินอยู่และนำไปปล่อยกู้แก่บุคคลอื่น โดยจำเลยที่ 1 เสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือนและร้อยละ 20 ต่อเดือน จนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทุกคนหลงเชื่อ ครั้งแรก ๆ ก็ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจำนวนไม่มากนักและมีการทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกันไว้บ้างตามเอกสารหมาย จ.5, จ.7 ทำหลักฐานการรับเงินไว้บ้างตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อถึงกำหนดนัดจำเลยที่ 1 ก็นำต้นเงินและดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันไว้มาชำระให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกจนครบถ้วนและมีการฉีกหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกเพิ่มจำนวนขึ้นอีกหลายครั้งหลายหน โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวตลอดมาโดยมิได้ผิดนัด จนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกหลงเชื่อโดยสนิทใจ จำเลยที่ 1 จึงกู้ยืมเงินโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกเป็นจำนวนมากและผิดนัดไม่ส่งคืนต้นเงินและดอกเบี้ย เมื่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกทวงถามจำเลยที่ 1 ก็ผัดผ่อนและหลบหนีไปในที่สุด ซึ่งการกู้ยืมเงินจากผู้เสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายจำเลยที่ 1 ก็เคยไปรับเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกตลอดจนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ทั้งได้ความว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่เป็นทหารประจำการรับราชการอยู่ภายในค่ายประจักษ์ศิลปาคมค่ายเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และมีบ้านพักอยู่ใกล้เคียงกัน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวจะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษ เพราะแม้แต่ผู้เสียหายที่ 6 จะเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปหลายครั้งตามเอกสารหมาย จ.10 แต่ขณะเบิกความก็ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เหตุผลดังกล่าวมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวเบิกความไปตามความจริง ประกอบกับจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมซึ่งเป็นระยะเวลาใกล้ชิดกับที่จำเลยทั้งสองถูกจับกุม และเจ้าพนักงานตำรวจจัดทำบันทึกการจับกุมขึ้นทันทีโดยจำเลยทั้งสองไม่ทันคิดหาทางต่อสู้ข้อกล่าวหาของเจ้าพนักงานตำรวจ และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวไว้ด้วย คำรับของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงมีน้ำหนักในการรับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกร่วมกันเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ หวยออมสินและหวยหุ้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกตามรายการจ่ายเงินเอกสารหมาย จ.1 เป็นการจ่ายเงินกำไรที่ได้จากหวยหุ้น และจำเลยที่ 2 เป็นคนเดินโพยนั้น เห็นว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองหาได้ให้การในเรื่องที่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกร่วมกันเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ หวยออมสินและหวยหุ้นไว้ไม่ แต่กลับมาเบิกความอ้างเรื่องดังกล่าวขึ้น แม้จะมีพยานโจทก์และโจทก์ร่วมบางปากเบิกความถึงเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้ามือสลากกินรวบก็ตามก็น่าจะรับฟังได้แต่เพียงว่าเป็นกิจการอีกอย่างหนึ่งที่จำเลยที่ 1 กับผู้เสียหายที่ 1 กระทำร่วมกันเท่านั้น หามีน้ำหนักหักล้างให้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสองไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.26 โดยไม่ได้อ่านและพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้อ่านให้ฟังนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจจัดทำบันทึกการจับกุมขึ้นโดยทันทีที่จับกุมจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองยังไม่ทันคิดหาทางต่อสู้จึงให้การรับสารภาพตามความจริง ส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนนั้นนอกจากจำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพยืนยันข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาแล้ว ในการสอบสวนก็มีนายทหารพระธรรมนูญร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจสามารถใช้ยันจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกในครั้งแรกเป็นจำนวนน้อย แล้วจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงตามกำหนดนัดก็เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกจนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกหลงเชื่อและเกิดความไว้วางใจในตัวจำเลยที่ 1 เพราะสามารถทำตามที่ตกลงกันไว้ จึงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปอีกหลายครั้งโดยแต่ละครั้งเพิ่มต้นเงินสูงขึ้น ซึ่งความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในสหกรณ์ทหารหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืมในลักษณะที่จะให้ผลประโยชน์มากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกได้ หากแต่การจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่โจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกในครั้งแรก ๆ ก็เป็นเพียงอุบายทุจริตคิดตั้งเรื่องขึ้นเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกให้หลงเชื่อและส่งมอบเงินให้ การกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ยอมรับมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน พฤติการณ์แห่งรูปคดีเชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นกับการหลอกลวงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายทั้งหกโดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนและร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ จึงเข้ากรณีเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดของจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Facebook Comments