Home บทความคดีแพ่ง ปิดบังว่าตนล้มละลาย ก่อนเข้าทำสัญญากู้ยืม ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่

ปิดบังว่าตนล้มละลาย ก่อนเข้าทำสัญญากู้ยืม ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่

2797

ปิดบังว่าตนล้มละลาย ก่อนเข้าทำสัญญากู้ยืม ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1334/2555

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 นับโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2686/2551 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,880,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ก่อนสืบพยานจำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิม แล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2686/2551 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้ และที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,880,000 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่ผู้เสียหาย 100,000 บาท แล้ว จึงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 1,780,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องและยกคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายด้วย

โจทก์ฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554 โจทก์รับว่าเป็นความจริง

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงิน 2,000,000 บาท จากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป 1,880,000 บาท การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

แม้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติให้มีการประกาศโฆษณาคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อได้มีการประกาศโฆษณาดังกล่าวแล้วให้ถือว่าบุคคลภายนอกทุกคนต้องทราบคำพิพากษานั้นและมิได้ระบุถึงผลของการประกาศโฆษณาโดยแจ้งชัด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้พออนุมานได้ว่าประสงค์จะให้การประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า บุคคลภายนอกทราบคำพิพากษาให้ล้มละลายที่ประกาศโฆษณาแล้วหรือไม่เท่านั้น ดังนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบถึงคำพิพากษาให้ล้มละลายก็ได้

จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย และให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ร่วมปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนที่จะทำสัญญากู้ยืมเงินจากผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจว่า จำเลยที่ 1 สามารถทำสัญญากู้ยืมเงินและมีผลบังคับตามกฎหมายได้ จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 แล้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง

Facebook Comments