Home บทความคดีแพ่ง ยอมให้ผู้รับเช็คกรอกจำนวนเงินวันที่ ต่อหน้าผู้สั่งจ่ายเช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

ยอมให้ผู้รับเช็คกรอกจำนวนเงินวันที่ ต่อหน้าผู้สั่งจ่ายเช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

1660

ยอมให้ผู้รับเช็คกรอกจำนวนเงินวันที่ ต่อหน้าผู้สั่งจ่ายเช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5645/2544

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2541 จำเลยออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยด่านช้าง ลงวันที่ 8 เมษายน 2541จำนวนเงิน 150,000 บาท มอบให้บริษัทกรุงไทยแทรคเตอร์ จำกัด ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ที่อยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาผู้เสียหายนำเช็คเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าในวันที่ 24 เมษายน 2541 เวลากลางวัน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธไม่ใช้เงินโดยให้เหตุผลว่า “ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร”ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา บริษัทกรุงไทยแทรคเตอร์ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(3) จำคุก3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระค่าเช่ารถขุดดินให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยส่งมอบเช็คพิพาทให้นายเขียว ห่วงรักพนักงานของโจทก์ร่วม นายเขียว กรอกจำนวนเงินและวัน เดือน ปีที่ออกเช็คลงในเช็คพิพาทต่อหน้า จำเลยในขณะรับมอบเช็คพิพาท เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดใช้เงิน โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์มาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า ที่จำเลยยอมให้นายเขียวกรอกจำนวนเงินและวัน เดือน ปีที่ออกเช็คลงในเช็คพิพาทต่อหน้าจำเลยในขณะนายเขียวรับมอบเช็คพิพาทนั้น จำเลยจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่ เห็นว่า จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระค่าเช่ารถขุดดินให้แก่โจทก์ร่วม โดยส่งมอบเช็คพิพาทให้นายเขียวพนักงานของโจทก์ร่วมในทันทีที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท ซึ่งเมื่อนายเขียวรับเช็คพิพาทจากจำเลยแล้วได้กรอกจำนวนเงินและวันเดือน ปี ที่ออกเช็คลงในเช็คพิพาทต่อหน้าจำเลยและโดยความยินยอมของจำเลยในทันทีที่รับมอบเช็คพิพาทจำนวนเงินและวัน เดือน ปี ที่ออกเช็คซึ่งนายเขียวกรอกลงในเช็คพิพาทต่อหน้าจำเลยและโดยความยินยอมของจำเลยนั้นก็ตรงกับข้อตกลงในหนังสือสัญญาเช่าที่จำเลยทำกับโจทก์ร่วมตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยจะเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทก็ตาม แต่จำนวนเงินที่ลงในเช็คพิพาทและรายการวัน เดือน ปีที่ออกเช็คจำเลยหาจำต้องเป็นผู้เขียนลงไว้ในเช็คพิพาทด้วยลายมือของจำเลยเองไม่ จำเลยอาจให้บุคคลอื่นเขียนหรือพิมพ์ข้อความดังกล่าวให้ก็ได้ หากข้อความถูกต้องตรงกับเจตนาของจำเลยในการออกเช็คพิพาทก็ถือว่าเป็นการออกเช็คที่สมบูรณ์แล้ว ซึ่งในทางธุรกิจการค้าก็มีการปฏิบัติเหมือนการกระทำดังจำเลยเช่นกันที่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คอาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คที่พนักงานที่เกี่ยวข้องเสนอรายละเอียดในการออกเช็คมาพร้อมกับเช็คที่เขียนหรือพิมพ์รายการวัน เดือน ปี และจำนวนเงินที่ลงในเช็คครบถ้วนแล้วเพื่อให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คนั้น ก็เป็นการออกเช็คที่สมบูรณ์ ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คพิพาทแล้ว อีกทั้งเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยย่อมทราบได้ในขณะออกเช็คพิพาทที่สมบูรณ์นั้นโดยทันทีว่าจะให้มีการใช้เงินตามเช็คในวันใดซึ่งในวันนั้นจำเลยผู้ออกเช็คพิพาทจะต้องเตรียมเงินไว้ในบัญชีที่ธนาคารอันจะพึงจ่ายเงินตามเช็คพิพาทนั้นได้ ต่อมาเมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดใช้เงิน แต่เงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายเงินตามเช็คพิพาทจนธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังว่า จำเลยออกเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ที่ออกเช็ค ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คและพิพากษายกฟ้องนั้นศาลฎีกา ไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยชำระค่าเช่าตามเช็คพิพาทในวันที่ 6 มีนาคม 2541 จำนวน 90,000 บาท และโดยการโอนเงินเข้าบัญชีของนายเขียว พนักงานของโจทก์ร่วมตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.2 หนี้ตามเช็คพิพาทจึงระงับไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยใหม่ ซึ่งในข้อนี้ได้ความจากนายเขียวว่าจำเลยยังมิได้ชำระค่าเช่าตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วม ส่วนเงินจำนวน90,000 บาท และการโอนเงินตามใบรับฝากเงินดังกล่าวเป็นการชำระค่าเช่าเดือนแรกที่จำเลยค้างชำระ มิใช่เป็นการชำระค่าเช่าตามเช็คพิพาทซึ่งจำเลยเองก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านยอมรับว่าการชำระเงินจำนวน90,000 บาท และการโอนเงินจำนวนดังกล่าว เป็นการชำระค่าเช่าของเดือนมีนาคม 2541 อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความของนายเขียวว่าเป็นการชำระค่าเช่าเดือนแรกจริงคำเบิกความของนายเขียวจึงมีน้ำหนักน่ารับฟัง อีกทั้งการชำระเงินจำนวนดังกล่าวก็เป็นการชำระก่อนเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระทั้งสิ้น จึงเชื่อได้ว่าเป็นการชำระค่าเช่าเดือนแรกไม่ใช่เป็นการชำระค่าเช่าตามเช็คพิพาทดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ร่วม โดยส่งมอบเช็คให้ อ. พนักงานของโจทก์ร่วมในทันทีที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่าย เมื่อ อ. รับเช็คแล้วได้กรอกจำนวนเงินและวัน เดือน ปี ที่ออกเช็คลงในเช็คต่อหน้าจำเลยและโดยความยินยอมของจำเลย แม้จำเลยเพียงแต่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็ค แต่รายการดังกล่าว จำเลยหาจำต้องเป็นผู้เขียนลงไว้ด้วยลายมือของจำเลยเองไม่ ถือได้ว่าเป็นการออกเช็คที่สมบูรณ์แล้วเมื่อจำเลยเป็นผู้ออกเช็ค และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4

Facebook Comments