Home บทความ ฝนตกอาคารรั่วซึม แต่สัญญาไม่ได้กำหนดระยะรับผิดไว้ต้องรับผิดหรือไม่

ฝนตกอาคารรั่วซึม แต่สัญญาไม่ได้กำหนดระยะรับผิดไว้ต้องรับผิดหรือไม่

1363

ฝนตกอาคารรั่วซึม แต่สัญญาไม่ได้กำหนดระยะรับผิดไว้ต้องรับผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2540

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารคอนกรีต 5 ชั้น ขนาดกว้าง10.90 เมตร ยาว 27.50 เมตร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 2557 และ2566 เป็นเงินทั้งสิ้น 3,400,000 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน 5 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ในระหว่างก่อสร้างโจทก์ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยให้ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาจ้างคิดเป็นเงิน 1,500,000 บาทต่อมาเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2533 จำเลยก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้วเสร็จและส่งมอบอาคารให้โจทก์ ส่วนงานเพิ่มเติมจำเลยทำแล้วเสร็จเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2533 และจำเลยได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ไปครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาปรากฏว่าตัวอาคารที่จำเลยก่อสร้างไม่เรียบร้อยตามสัญญายังมีข้อบกพร่องหลายรายการเป็นต้นว่าผนังอาคารมีรอยแตกร้าวทั่วไป การฉาบผนังอาคารไม่เรียบการเทพื้นอาคารไม่ได้ระดับเสมอกัน โจทก์แจ้งให้จำเลยแก้ไขแต่จำเลยไม่จัดการ เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2533 ฝนตกน้ำฝนไหลซึมเข้ามาในตัวอาคารตามรอยแตกร้าวซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบริเวณผนังอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบริเวณผนังอาคารส่วนที่ต่อจากคาน ทั้งนี้เนื่องมาจากจำเลยมิได้ก่อสร้างอาคารอย่างถูกต้องตามหลักวิชาช่าง ประกอบกับมิได้ทายากันซึมทั่วอาคารภายนอกเพื่อป้องกันมิให้น้ำไหลซึมเข้าในตัวอาคาร การที่น้ำฝนไหลซึมเข้าในตัวอาคารดังกล่าวทำให้เครื่องเรือนต่าง ๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในอาคารหินอ่อนที่ใช้ตกแต่งอาคารบางส่วนได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องให้บุคคลอื่นแก้ไขผนังอาคารที่แตกร้าวเป็นเงิน 350,000 บาท ค่ารื้อถอนและตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ใหม่เป็นเงิน 150,000 บาท ค่าเปลี่ยนหินอ่อนเป็นเงิน50,000 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอบอาคารที่โจทก์ต้องเสียค่าเช่าสถานที่แห่งใหม่เพื่ออยู่อาศัยและประกอบกิจการในระหว่างดำเนินการแก้ไขเป็นเวลา 2 เดือน เดือนละ 50,000 บาทเป็นเงิน 100,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 650,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 650,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะความชำรุดบกพร่องปรากฏขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2534 พ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน240,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่31 พฤษภาคม 2532 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารพิพาท จำเลยได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบอาคารพิพาทให้แก่โจทก์ และจำเลยได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้ว ต่อมาปรากฏว่าอาคารพิพาทบางแห่งมีรอยแตกร้าวเมื่อฝนตกเป็นเหตุให้น้ำซึมตามรอยแตกร้าวเข้าไปในอาคารพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกมีว่าความชำรุดบกพร่องของอาคารพิพาทเกิดจากการจำเลยก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดหรือไม่โจทก์นำสืบว่า ในระหว่างจำเลยทำการก่อสร้างอาคารพิพาทนั้นโจทก์ได้ว่าจ้างช่างไฟฟ้ามาเดินสายไฟฟ้าภายในอาคารพิพาทช่างไฟฟ้าได้ใช้ค้อนสกัดผนังอาคารพิพาทเพื่อฝังท่อร้อยสายไฟฟ้าทำให้บางจุดของผนังอาคารพิพาทแตกร้าว แต่ช่างไฟฟ้าได้จ่ายค่าเสียหายในส่วนที่แตกร้าวให้แก่จำเลยรับไปทำการซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว แม้ข้อนำสืบของโจทก์จะเจือสมกับที่จำเลยนำสืบว่าช่างไฟฟ้าที่โจทก์จ้างให้มาเดินสายไฟฟ้าในอาคารพิพาทได้สกัดผนังอาคารพิพาทเพื่อฝังท่อร้อยสายไฟฟ้า ทำให้ผนังอาคารพิพาทแตกร้าวก็ตาม แต่ปรากฏจากการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ของศาลชั้นต้นว่าอาคารพิพาทบางแห่งที่ไม่มีการสกัดผนังเพื่อฝังท่อร้อยสายไฟฟ้าก็มีรอยแตกร้าว บางแห่งมีลักษณะอัดปูนไม่เต็ม มีรอยคราบน้ำไหลซึมเข้ามาในตัวอาคารพิพาทด้วย แสดงว่ารอยแตกร้าวของอาคารพิพาทเกิดจากช่างที่จำเลยจ้างมาทำก่อสร้างอาคารพิพาทไม่ชำนาญหรือมีฝีมือไม่ดีพอมาทำการก่อสร้างหรือช่างไม่ได้ทำตามกรรมวิธีที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.1 มิได้กำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดรอยแตกร้าวของอาคารพิพาทส่วนที่มิได้เกิดขึ้นจากการกระทำของช่างไฟฟ้าที่โจทก์จ้างที่ปรากฏขึ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบตามนับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 ที่จำเลยอ้างว่าตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ระบุว่า”งวดที่ 11 เงิน 200,000 บาท ตกลงชำระเมื่อการรับมอบงานล่วงพ้นไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือน กับทั้งไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องใด ๆ เกิดขึ้นกับอาคารที่ก่อสร้าง” นั้นเป็นการกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องภายใน 6 เดือนนับแต่ส่งมอบอาคารพิพาทแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดที่โจทก์ที่จะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใดเท่านั้น หาใช่มีความหมายดังเช่นจำเลยอ้างแต่อย่างใดฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 160,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยก่อสร้างอาคาร จำเลยก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้แก่โจทก์รับเงินค่าจ้างจากโจทก์ไปครบถ้วนแล้วต่อมาอาคารบางแห่งมีรอยแตกร้าวเมื่อฝนตกน้ำซึมเข้าไปในอาคารซึ่งเกิดจากช่างที่จำเลยจ้างมาไม่ชำนาญหรือมีฝีมือไม่ดีพอหรือไม่ได้ทำตามกรรมวิธีที่ถูกต้อง ฉะนั้นเมื่อสัญญาจ้างมิได้กำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 ส่วนที่ตามสัญญาจ้างระบุว่างวดที่ 11 เงิน 200,000 บาท ตกลงชำระเมื่อการรับมอบงานล่วงพ้นไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือน กับทั้งไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายหรือความชำรุดบกพร่องใด ๆ เกิดขึ้นกับอาคารที่ก่อสร้างนั้นเป็นการกำหนดหน้าที่โจทก์ที่จะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาเท่าใดเท่านั้น มิใช่เป็นกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ภายในกำหนดดังกล่าว

Facebook Comments