Home บทความคดีแพ่ง ลูกแชร์ผิดนัดกันเองในวงแชร์ ฟ้องฉ้อโกงได้หรือไม่

ลูกแชร์ผิดนัดกันเองในวงแชร์ ฟ้องฉ้อโกงได้หรือไม่

1691

ลูกแชร์ผิดนัดกันเองในวงแชร์ ฟ้องฉ้อโกงได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2537

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงิน 258,225 บาท โดยจะขอผ่อนชำระให้โจทก์เป็นงวดภายในวันที่ 5 ของทุก ๆ เดือน หากผิดนัดเดือนใดเดือนหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยเคยผ่อนชำระให้โจทก์ตามสัญญาเป็นบางส่วนแล้วไม่ชำระ วันที่ 19 ธันวาคม 2523จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ว่ายังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่187,699 บาท นับถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 จะชำระให้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2524 และคิดค่าผลประโยชน์ให้โจทก์เป็นค่าเสียหายอีกจำนวน 33,785.82 บาท โดยจะชำระให้ภายในเดือนมกราคม 2524 เมื่อครบกำหนดตามสัญญา แล้วจำเลยทั้งสามก็ยังผ่อนชำระเงินให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญา คงค้างชำระอยู่ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2525 เป็นเงิน164,024.82 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยไม่ชำระทำให้โจทก์เสียหาย ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 164,024.82บาท นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ถึงวันฟ้องเป็นค่าเสียหาย127,392.60 บาท รวมเป็นเงิน 291,417.42 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน164,024.82 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ออกเช็คชำระหนี้แทนบุคคลภายนอกให้แก่โจทก์เป็นเงินประมาณ 200,000 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสามได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้จริง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2523 จำเลยที่ 3 ได้คิดบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามแล้วได้ทำบันทึกกันไว้จริงในวันดังกล่าวมีหนี้สินค้างชำระกันอยู่เพียง 187,699 บาท หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์อีกจนถึงวันที่ 26พฤษภาคม 2525 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 57,460 บาท คงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เพียง 130,239 บาท เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะโจทก์ได้เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีหรือร้อยละ 1.5 ต่อเดือนตลอดมาซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามหนังสือรับสภาพหนี้และผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 164,024.82บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 127,392.60 บาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมอยู่ในมูลหนี้เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 และมูลหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา กรณีของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า สัญญารับสภาพหนี้ต้องถือมูลหนี้ตามเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี คดีจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามูลหนี้เดิมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าแชร์ การชำระหนี้ด้วยเช็คเช่นนี้ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงอาศัยมูลหนี้เดิมตามสัญญาการเล่นแชร์หาได้ฟ้องให้รับผิดตามเช็คไม่ อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่)เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้าย และเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันฟ้อง ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

สรุป

มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมอยู่ในมูลหนี้ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มูลหนี้เดิมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าแชร์ การชำระหนี้ด้วยเช็คเช่นนี้ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงอาศัยมูลหนี้เดิมตามสัญญาการเล่นแชร์หาได้ฟ้องให้รับผิดตามเช็คไม่ อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ใหม่) เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้าย และเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

Facebook Comments