Home บทความคดีแพ่ง หลอกให้ถอนคำร้องทุกข์แล้วไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

หลอกให้ถอนคำร้องทุกข์แล้วไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

2323

หลอกให้ถอนคำร้องทุกข์แล้วไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ถือว่ากระทำผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2536

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2534 จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจะยอมรับภาระชำระหนี้แทนนางเขจ เนื่องจากโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ให้ดำเนินคดีนางเขจฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 โดยจำเลยรับรองต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะชำระหนี้แทนนางเขจตามเช็คเป็นเงิน 130,000 บาท ภายในวันที่ 30เมษายน 2534 และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ โจทก์หลงเชื่อจึงถอนคำร้องทุกข์ แต่เมื่อถึงกำหนดวันจะชำระหนี้แทนนางเขจ จำเลยขอผัดผ่อนและบ่ายเบี่ยงไม่ยอมชำระหนี้ การกระทำของจำเลยถือว่ามีเจตนาทุจริตฉ้อโกงโจทก์ ทำให้โจทก์เสียสิทธิในการดำเนินคดีอาญาต่อนางเขจ เหตุเกิดที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องประกอบด้วยผู้หลอกลวงมีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และผลการหลอกลวงนั้นทำให้ผู้หลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจะยอมชำระหนี้แทนนางเขจเนื่องจากโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนางเขจฐานความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คโดยจำเลยรับรองต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า จะชำระหนี้แทนนางเขจภายในวันที่ 30 เมษายน 2534 และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ โจทก์หลงเชื่อจึงถอนคำร้องทุกข์ แต่เมื่อถึงกำหนดวันที่ที่จำเลยจะชำระหนี้แทน จำเลยผัดผ่อนไม่ยอมชำระ ทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงประกอบคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว องค์ประกอบแรกจำเลยต้องเป็นผู้หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายว่าจำเลยให้คำรับรองต่อโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะชำระหนี้แทนนางเขจภายในวันที่30 เมษายน 2534 และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ คำรับรองว่าจะใช้หนี้แทนภายในวันที่ 30 เมษายน 2534 เป็นคำมั่นสัญญาที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคต ขณะให้คำรับรองยังไม่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดตามคำรับรองแล้วจำเลยจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรอง คำรับรองดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อความเท็จนอกจากจำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรอง จึงจะถือได้ว่าจำเลยแสดงข้อความเท็จ แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรอง ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าตามคำฟ้องโจทก์ จำเลยมิได้กระทำความผิดคดีโจทก์ไม่มีมูล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

จทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยให้คำรับรองต่อโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะชำระหนี้แทน ส. ภายในวันที่ 30 เมษายน 2534และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ โจทก์หลงเชื่อจึงถอนคำร้องทุกข์คำรับรองดังกล่าวจึงเป็นคำมั่นสัญญาที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคตขณะให้คำรับรองยังไม่ปรากฏว่าเมื่อถึงกำหนดตามคำรับรองแล้วจำเลยจะไม่ไปปฏิบัติตามคำรับรอง คำรับรองดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อความเท็จนอกจากจำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรองจึงจะถือได้ว่าจำเลยแสดงข้อความเท็จ แต่โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำรับรอง ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง

Facebook Comments