Home บทความคดีแพ่ง เอาใบรับจำนำทองของผู้อื่นไปไถ่ถอนออกจากร้านทอง ถือเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่

เอาใบรับจำนำทองของผู้อื่นไปไถ่ถอนออกจากร้านทอง ถือเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่

3090

เอาใบรับจำนำทองของผู้อื่นไปไถ่ถอนออกจากร้านทอง ถือเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2547

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอโกเมนเลี่ยมทองคำจำนวน 18,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนสร้อยคอโกเมนเลี่ยมทองคำหรือใช้ราคา 14,800 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวัน นางสาวเทียนหยด ผู้เสียหายไปกับนางสาวมะหิน ได้นำสร้อยคอโกเมนเลี่ยมทองคำ 1 เส้น ราคา 18,000 บาท ของผู้เสียหายไปจำนำไว้ที่ร้านทองสุจินดาในราคา 3,200 บาท ตามใบสำคัญการจำนำเอกสารหมาย จ.1 ผู้เสียหายได้เก็บใบสำคัญการจำนำไว้ในกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เมื่อไปหาซื้อของกันแล้ว ผู้เสียหายได้ชวนนางสาวมะหินกับพวกไปเที่ยวผับโดยผู้เสียหายไปเปลี่ยนเสื้อและกางเกงไว้ในห้องนอนของนางสาวมะหิน หลังจากเที่ยวผับแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้าน วันถัดมาผู้เสียหายไปหาใบสำคัญการจำนำที่เดิมในกระเป๋ากางเกงที่เปลี่ยนไว้ในห้องนอนของนางสาวมะหินแต่หาไม่พบ ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 เวลากลางวันมีคนร้ายไม่ทราบว่าได้ใบสำคัญการจำนำของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.1 มาด้วยวิธีใด ได้นำใบสำคัญการจำนำดังกล่าวไปไถ่เอาสร้อยคอโกเมนเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายจากร้านทองสุจินดาเป็นของตนโดยทุจริต ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายทองหลาง เหลี่ยมสมบูรณ์ เจ้าของร้านทองสุจินดาและร้อยตำรวจเอกเฟื่องฟ้า พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความฟังได้สอดคล้องกัน โดยผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายหาใบสำคัญการจำนำไม่พบ วันต่อมาผู้เสียหายได้ไปที่ร้านทองสุจินดาขอไถ่สร้อยคอที่จำนำไว้โดยบอกว่าใบสำคัญการจำนำหายไป แต่ทางร้านแจ้งว่ามีคนมาไถ่เอาไปแล้ว ผู้เสียหายจึงไปแจ้งความ ต่อมาเมื่อพนักงานสอบสวนนำเทปวีดีโอที่ทางร้านทองสุจินดาบันทึกภาพไว้มาเปิดให้ดูจึงทราบว่าผู้ที่ไปไถ่เอาสร้อยคอของผู้เสียหายคือจำเลยร่วมกับนายดาวเรืองไม่ทราบนามสกุล นายทองหลางเบิกความว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 เวลาประมาณเที่ยงวันมีจำเลยกับพวกอีก 1 คน มาที่ร้านโดยนำใบสำคัญการจำนำตามเอกสารหมาย จ.1 มาแสดงขอไถ่สร้อยคอที่จำนำไว้ในราคา 3,200 บาท พยานจึงให้ไถ่ไป ต่อมาในตอนเย็นของวันเดียวกัน มีญาติของผู้เสียหายมาสอบถามพยานก็บอกว่ามีคนมาไถ่ไปแล้ว โดยที่ร้านทองของพยานได้ติดตั้งเครื่องโทรทัศน์วงจนปิดไว้เพื่อบันทึกภาพผู้ที่มาติดต่อภายในร้านและจะเปิดกล้องทุกวันทำการ ซึ่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ทางร้านก็ได้บันทึกภาพวีดีโอไว้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบปากคำพยานก็ได้นำเทปวิดีโอบันทึกภาพในวันดังกล่าวมาเปิดให้ดู พยานจำเหตุการณ์ได้ดีเพราะในวันนั้นมีจำเลยกับพวกมาไถ่สร้อยคอราคา 3,200 บาท เพียงรายเดียว และร้อยตำรวจเอกเฟื่องฟ้าเบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ผู้เสียหายไปแจ้งความว่า ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำไว้ที่ร้านทองสุจินดาโดยทางร้านได้ออกใบสำคัญการจำนำให้ แต่มีผู้นำใบสำคัญการจำนำของผู้เสียหายดังกล่าวไปไถ่เอาสร้อยคอของผู้เสียหายไปจากร้านทองโดยไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร พยานได้ไปสอบปากคำนายทองหลางเจ้าของร้านทอง ทราบว่าคนร้ายนำใบสำคัญการจำนำตามเอกสารหมาย จ.1 มาขอไถ่เอาสร้อยคอของผู้เสียหายไปเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 พยานได้นำวิดีโอที่ทางร้านทองบันทึกภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าวไปเปิดให้ผู้เสียหายดูแล้ว ผู้เสียหายยืนยันว่า คนร้ายคือจำเลยกับพวกตามวิดีโอเทปบันทึกภาพหมาย ว.จ.1 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ คำเบิกความจึงมีน้ำหนักน่ารับฟัง นายทองหลาง เบิกความประกอบการฉายวิดีโอเทปบันทึกภาพหมาย ว.จ.1 ในชั้นพิจารณายืนยันว่าเป็นวิดีโอที่ถ่ายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 จากภาพแสดงหน้าร้านของพยาน มีชาย 2 คน เดินเข้ามา ชายคนแรกที่สวมเสื้อลายคือจำเลย ส่วนชายอีกคนที่มากับจำเลยได้ยืนอยู่ด้วยกัน จำเลยส่งใบสำคัญการจำนำตามเอกสารหมาย จ.1 ให้ภริยาของพยานเพื่อขอไถ่สร้อยคอโกเมน เมื่อจำเลยให้เงินจำนวน 3,200 บาท แล้ว ภริยาของพยานก็คืนสร้อยคอให้ไป โดยขณะนั้นพยานอยู่ที่หลังร้านดูเหตุการณ์ภายในร้านจากจอภาพโทรทัศน์วงจรปิดอยู่ด้วย และวิดีโอเทปม้วนนี้เจ้าพนักงานตำรวจได้ขอจากพยานไปเป็นหลักฐานประกอบคดี โดยการบันทึกวิดีโอเทปในลักษณะดังกล่าวตามธนาคารหรือร้านจำหน่ายทองรูปพรรณส่วนใหญ่จะติดตั้งเครื่องโทรทัศน์วงจรปิดบันทึกภาพพฤติการณ์ของผู้มาติดต่อธุรกรรมภายในสถานประกอบการไว้ เพื่อเป็นหลักฐานอ้างยันผู้เข้ามาประกอบอาชญากรรมเป็นพยานวัตถุที่บันทึกภาพจากเหตุการณ์ตามความเป็นจริง จึงเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักยากที่จะปฏิเสธการกระทำที่ปรากฏในภาพที่บันทึกไว้ได้ ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับว่า ภาพของจำเลยที่ปรากฏตามวิดีโอเทปบันทึกภาพเอกสารหมาย ว.จ.1 เป็นภาพของจำเลยจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าเหตุที่กล้องวิดีโอเทปของทางร้านทองสุจินดาบันทึกภาพของจำเลยได้นั้นเป็นเพราะจำเลยเคยนำทองไปจำนำที่ร้านทองดังกล่าวในครั้งอื่นหลายครั้งแต่จำเลยปฏิเสธเพียงลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนว่าเคยไปจำนำไว้เมื่อไร จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าใครเป็นผู้ลักเอาใบสำคัญการจำนำของผู้เสียหายไปนั้น เห็นว่า การลักใบสำคัญการจำนำไม่ได้เป็นเป็นเด็นแห่งคดีจึงไม่ต้องนำมาวินิจฉัย และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้นำภริยาของนายทองหลางซึ่งเป็นผู้รับใบสำคัญการจำนำและส่งมอบสร้อยคอโกเมนของผู้เสียหายให้จำเลยไปมาเบิกความยืนยันว่า ใบสำคัญการจำนำที่รับจากจำเลยคือใบสำคัญการจำนำตามเอกสารหมาย จ.1 และสร้อยคอโกเมนที่มอบให้จำเลยไปคือ สร้อยคอโกเมนผู้เสียหายจริง พยานหลักฐานโจทก์จึงยังมีพิรุธน่าสงสัยนั้น เห็นว่า โจทก์ได้อ้างวิดีโอเทปบันทึกภาพเอกสารหมาย ว.จ.1 ซึ่งฟังได้ว่าเป็นวิดีโอเทปบันทึกภาพในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจริง แม้โจทก์จะไม่อ้างภริยาของนายทองหลางเป็นพยานก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักลดน้อยลง พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบและอ้างมาในฎีกานั้นไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยกับพวกเป็นคนร้ายรายนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต่อไปว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำ เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำได้ออกหลักฐานให้ผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.1 ว่า เป็นการ “ขายฝาก” โดยมีกำหนดไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายใน 1 เดือน กรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอที่รับจำนำไว้จึงตกอยู่แก่เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำจนกว่าผู้เสียหายจะไถ่คืน ดังนั้น การที่จำเลยนำเอกสารหมาย จ.1 ไปขอไถ่สร้อยคอของผู้เสียหายจากผู้รับจำนำโดยไม่แสดงออกให้แจ้งชัดว่าตั๋วไถ่ไม่ใช่ของตน เป็นเหตุให้ผู้รับจำนำหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอของผู้เสียหายให้จำเลยไป เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฉ้อโกงก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าพิพากษาเกินคำขอ

อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก จำคุกจำเลย 3 ปี แต่ไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์แห่งคดีนี้ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยต้องใช้เงินสด 3,200 บาท ไปไถ่สร้อยคอของกลางราคา 18,000 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษาให้จำเลยคืนสร้อยคอของกลางราคา 14,800 บาทแล้ว จึงเห็นสมควรระวางโทษจำเลยให้เบาลงให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดี”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

การที่ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำ เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำได้ออกหลักฐานให้ผู้เสียหายว่า เป็นการ “ขายฝาก” โดยมีกำหนดไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายใน 1 เดือน กรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอที่รับจำนำไว้จึงตกอยู่แก่เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำจนกว่าผู้เสียหายจะไถ่คืน ดังนั้น การที่จำเลยนำหลักฐานที่เจ้าของร้านทองออกให้แก่ผู้เสียหายไปขอไถ่สร้อยคอของผู้เสียหายจากผู้รับจำนำโดยไม่แสดงออกให้แจ้งชัดว่าตั๋วไถ่ไม่ใช่ของตน เป็นเหตุให้ผู้รับจำนำหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอของผู้เสียหายให้จำเลยไป เป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฉ้อโกง ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าพิพากษาเกินคำขอ

Facebook Comments