ศาลฎีกาวางหลักในคดีเรื่องฝ่ายไหนจะต้องรับผิดเพียงใดไว้อย่างไรบ้างในคดีละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 834/2524
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากละเมิดแก่โจทก์ เนื่องจากบุตรโจทก์ถึงแก่ความตายเพราะขับขี่รถชนกันกับรถของจำเลย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองมิได้ประมาท เป็นความประมาทของผู้ตายฝ่ายเดียว ค่าเสียหายไม่มากดังฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องและขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า รถของจำเลยมิได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์และจำเลยมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกัน พิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนประมาทพอกัน แต่โจทก์ได้รับความเสียหายมากกว่า พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าทั้งสองฝ่ายมีส่วนประมาทพอ ๆ กัน และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ในข้อที่ว่าฝ่ายไหนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายมากกว่าจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นด้วย เพราะการรับผิดในความเสียหายจะต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอ ๆ กันจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย
สรุป
ในเรื่องละเมิด ข้อที่ว่าฝ่ายไหนจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ด้วยว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ไม่ถือความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ ดังนั้น เมื่อต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอๆ กัน จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากกันได้