Home บทความคดีแพ่ง ขายที่ดินโดยทราบดีว่าอยู่ ในเขตป่าสงวน ผิดฉ้อโกงหรือไม่

ขายที่ดินโดยทราบดีว่าอยู่ ในเขตป่าสงวน ผิดฉ้อโกงหรือไม่

2456

ขายที่ดินโดยทราบดีว่าอยู่ในเขตป่าสงวน ผิดฉ้อโกงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50-51/2553

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิจารณารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งเจ็ดในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และเรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 8 และที่ 9 ตามลำดับ

โจทก์ฟ้องจำเลยสองสำนวน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 210, 341 และให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 1,006,500 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง

จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 83) ให้จำคุกคนละ 3 ปี ให้จำเลยที่ 8 ใช้ค่าที่ดิน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 ใช้เงินที่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ไป จำนวน 556,500 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เสีย ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 8 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 6 คนละ 1 ปี และให้จำเลยที่ 3 ที่ 6 ใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 8 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 6 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 6 จำเลยที่ 3 และที่ 6 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 6 โจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 6 ไม่คัดค้าน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดต่อส่วนตัว และยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายทั้งสองจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายทั้งสองถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 6 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 6 ย่อมระงับไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) …

พิเคราะห์พยานหลักฐานในคดีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2545 ผู้เสียหายทั้งสองร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรีเทียนหอม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ว่าถูกจำเลยที่ 8 กับพวกนำที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติมาหลอกขายให้ผู้เสียหายทั้งสอง ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อจ่ายเงินเป็นค่าที่ดินให้จำเลยที่ 8 กับพวกไป ต่อมาจำเลยที่ 8 ถูกจับและถูกฟ้องคดีนี้ สำหรับความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และความผิดฐานฉ้อโกงศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 โจทก์ไม่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 6 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 ผู้เสียหายทั้งสองถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 6 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 ผู้เสียหายทั้งสองถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 6 ในความผิดฐานฉ้อโกงคงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 8 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 8 ไม่ได้บอกผู้เสียหายที่ 2 และสามีว่าที่ดินที่ผู้เสียหายที่ 2 ซื้อเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ผู้เสียหายทั้งสองและสามีผู้เสียหายที่ 2 เป็นชาวกรุงเทพมหานครเมื่อเดินทางไปดูที่ดินเห็นว่ามีบ่อเลี้ยงกุ้งที่มีสภาพร้าง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 หลงเชื่อว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 8 แม้จำเลยที่ 8 จะมอบที่ดินให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าครอบครองการกระทำของจำเลยที่ 8 เป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 8 ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 8 ว่า ตอนที่จะทำสัญญาซื้อขาย ได้ขอดูเอกสารเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 8 บอกว่าไม่มี และแจ้งว่าเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ผู้เสียหายที่ 2 ติดใจที่จะซื้อเพราะที่ดินสวยและราคาถูก ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่าได้ทำสัญญากันไว้ โดยผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้เขียนสัญญาซื้อขาย เมื่อศาลฎีกาดูสัญญาซื้อขายแล้วสัญญานี้ไม่ได้ระบุว่าทรัพย์ที่ซื้อขายกันเป็นทรัพย์อะไร ไม่ได้ตกลงว่าจะมีการไปจดทะเบียนการซื้อขายระหว่างกันต่อเจ้าพนักงาน ทำให้เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองรู้อยู่แล้วในตอนทำสัญญาซื้อขายและมอบเงินให้จำเลยที่ 8 ว่าไม่อาจไปจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดแบบของนิติกรรมไว้ได้ สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 8 นำสืบว่าผู้เสียหายทั้งสองมาขอซื้อที่ดิน จำเลยที่ 8 แจ้งให้ทราบแล้วว่าที่ดินที่จะขายอยู่ไกลเป็นที่ดินในเขตป่าสงวน ห้ามตัดต้นไม้แต่ให้ทำกินได้ ซึ่งผู้เสียหายทั้งสองก็สนใจที่จะซื้อ ฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่ซื้อจากจำเลยที่ 8 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและจำเลยที่ 8 ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองและผู้เสียหายที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแล้วการกระทำของจำเลยที่ 8 ไม่เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองและไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 8 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 6 ออกจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

สรุป

การที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 8 โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่ซื้ออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และจำเลยที่ 8 ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ การซื้อขายที่ดินระหว่างผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยที่ 8 จึงเป็นการซื้อขายสิทธิครอบครองในที่ดิน เมื่อจำเลยที่ 8 มอบที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองซื้อให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองและผู้เสียหายที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 6 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 8 ไม่เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองและไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสอง

Facebook Comments