Home บทความ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นเมื่อสาระสำคัญตรงกันได้หรือไม่

สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นเมื่อสาระสำคัญตรงกันได้หรือไม่

1602

สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นเมื่อสาระสำคัญตรงกันได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15238/2553

โจทก์ฟ้องขอศาลสั่งให้นำอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์จำนวน 12 เครื่อง ที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,592,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,488,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 ตุลาคม 2545) ต้องไม่เกินจำนวน 13,147.25 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลล่างที่คู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2545 โจทก์ทำใบเสนอราคาขายอุปกรณ์ต่อพ่วงเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่น ULTRA TRAK SX 8000 จำนวน 12 เครื่อง ราคาเครื่องละ 124,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,488,000 บาท แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 จำเลยทำใบตกลงสั่งสินค้าจากโจทก์ทางโทรสาร พนักงานของโจทก์ติดต่อไปยังจำเลยเพื่อขอให้ยืนยันการสั่งซื้อ จำเลยส่งโทรสารยืนยันการสั่งซื้อกลับมาโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อ โจทก์สั่งซื้อสินค้าตามที่จำเลยสั่งจากผู้ผลิตในต่างประเทศ แต่เมื่อได้สินค้ามาแล้วจำเลยปฏิเสธไม่ยอมรับมอบสินค้าและไม่ชำระราคา

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า การซื้อขายสินค้าประเภทอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางจะเกิดขึ้นเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีใบเสนอราคาแสดงว่าได้ทำคำเสนอไปยังจำเลยแล้ว การที่จำเลยมีใบสั่งซื้อกลับไปยังโจทก์ โดยมีสาระสำคัญตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นชนิด รุ่น หรือราคาสินค้าที่โจทก์เสนอมา คงมีแต่รายละเอียดที่จำเลยกำหนดไว้ในใบสั่งซื้อว่า วางบิลได้ในเวลาใด ติดต่อพนักงานของจำเลยผู้ใดและที่อาคารชั้นไหนเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะถือว่าเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นคำสนองถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์ ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยและมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ใบสั่งซื้อของจำเลยส่งไปถึงโจทก์แล้ว ส่วนที่ต่อมามีพนักงานของโจทก์ติดต่อไปยังจำเลยขอให้ยืนยันการสั่งซื้อก็เป็นเพียงกลวิธีในการทำธุรกิจที่จะลดความเสี่ยงและเป็นการให้บริการแก่ลูกค้า โดยให้โอกาสแก่จำเลยว่าจะยังคงยืนยันการซื้อขายหรือไม่ หาใช่สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้นไม่ เมื่อจำเลยได้รับการติดต่อจากพนักงานของโจทก์ดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ แต่กลับมีการส่งโทรสารยืนยันการสั่งซื้อไปยังโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดขึ้นแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าจากโจทก์และไม่ยอมชำระราคา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อคำฟ้องปรากฏชัดเจนว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย ฉะนั้น โจทก์จะรับชำระค่าสินค้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 ดังนั้น การที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระราคาสินค้า ภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 1,605,307.25 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาสินค้าจำนวน 1,488,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และมีคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ว่าหากจำเลยไม่ชำระแก่โจทก์ตามข้อ 1 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์จำนวน 12 ตัว ที่โจทก์ได้ใช้สิทธิยึดหน่วงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนด้วย แต่ศาลชั้นต้นยกคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 โดยเห็นว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับคดีและพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ให้แก่โจทก์เท่านั้น โดยไม่ได้พิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์ด้วยจึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือจะต้องพิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์และชำระราคา ส่วนการจะบังคับคดีอย่างไรนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 247

พิพากษากลับว่า ให้จำเลยรับมอบสินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์ และชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท

สรุป

การซื้อขายสินค้าประเภทอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางจะเกิดขึ้นเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีใบเสนอราคา แสดงว่าได้ทำคำเสนอไปยังจำเลยแล้วการที่จำเลยมีใบสั่งซื้อกลับไปยังโจทก์ โดยมีสาระสำคัญตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นชนิด รุ่น หรือราคาสินค้าที่โจทก์เสนอมา คงมีแต่รายละเอียดที่จำเลยกำหนดไว้ในใบสั่งซื้อว่าวางบิลได้ในเวลาใด ติดต่อพนักงานของจำเลยผู้ใดและที่อาคารชั้นไหนเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะถือว่าเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นคำสนองถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์ ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยและมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ใบสั่งซื้อของจำเลยส่งไปถึงโจทก์แล้ว ส่วนที่ต่อมามีพนักงานของโจทก์ติดต่อไปยังจำเลยขอให้ยืนยันการสั่งซื้อ ก็เป็นเพียงกลวิธีในการทำธุรกิจที่จะลดความเสี่ยงและเป็นการให้บริการแก่ลูกค้า โดยให้โอกาสแก่จำเลยว่าจะยังคงยืนยันการซื้อขายหรือไม่ หาใช่สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้นไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าจากโจทก์และไม่ยอมชำระราคา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

ตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย ฉะนั้น โจทก์จะรับชำระค่าสินค้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามคำขอท้ายฟ้องให้แก่โจทก์เท่านั้น โดยไม่ได้พิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์ด้วยจึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือจะต้องพิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์และชำระราคา ส่วนการจะบังคับคดีอย่างไรนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247

Facebook Comments