Home บทความคดีแพ่ง ออกเช็คโดยมีข้อตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญาเช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

ออกเช็คโดยมีข้อตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญาเช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

983

ออกเช็คโดยมีข้อตกลงว่าจะไม่ดำเนินคดีอาญาเช็คเด้งมีความผิดทางอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2508

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สั่งจ่ายเงิน 15,000 บาทแก่นายอัญชันผู้เสียหาย ครั้นเช็คถึงกำหนดผู้เสียหายได้นำเข้าธนาคารไทยทนุ เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะจำเลยฝากเงินไว้ไม่พอจ่ายจำเลยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

 

จำเลยให้การปฏิเสธ

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การออกเช็คนี้คู่กรณีตกลงไม่เอาความอาญาต่อกัน เป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และผู้เสียหายน่าจะรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเป็นเช็คที่ไม่มีเงินจะไม่ดำเนินคดีอาญากันพิพากษายกฟ้อง

 

โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงในขณะออกเช็คว่าจะฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องเช็คโดยไม่ดำเนินคดีอาญาในกรณีไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค คดีเรื่องนี้เป็นความผิดอันยอมความได้การตกลงเช่นนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยไม่มีความผิด พิพากษายืน

 

โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นรับเฉพาะข้อกฎหมาย

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้อที่ว่าศาลอุทธรณ์ตีความในสัญญาที่คู่กรณีตกลงกันไม่ถูกต้องนั้นแล้ว เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่านายอัญชันได้ตกลงกับจำเลยว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับเรื่องเช็คไม่มีเงิน และประชุมปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การยอมความในความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง และ 39(2) นั้น เป็นการกระทำภายหลังที่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่การที่จะกระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำผิดข้อตกลงล่วงหน้าก่อนมีการกระทำผิดจะถือเป็นการยอมความตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วไม่ได้ และบุคคลจะตกลงกันไว้ก่อนว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญา ถ้าหากจะมีการกระทำผิดเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้านั้น ข้อตกลงนั้นก็หามีผลก่อให้เกิดหนี้ที่จะผูกพันคู่กรณีให้จำต้องงดเว้นไม่ฟ้องคดีอาญาเช่นว่านั้นแต่ประการใดไม่ เพราะอำนาจฟ้องคดีอาญาจะมีอยู่หรือไม่ นั้น มิได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายลักษณะหนี้ในทางแพ่ง หากอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาอีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญานั้น อาจถือเป็นความยินยอมให้กระทำการที่ตามปกติต้องด้วยบทบัญญัติว่าเป็นความผิดได้มีหลักกฎหมายทั่วไปเป็นเหตุยกเว้นความผิดอาญาอยู่ตามฎีกาที่ 616/2482 และ 787/2483 ว่า ความยินยอมอันบริสุทธิ์ของผู้เสียหายให้ผู้ใดกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้นถ้าความยินยอมนั้นไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดีและมีอยู่จนถึงขณะกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้นแล้วความยินยอมนั้นย่อมเป็นข้อยกเว้นมิให้การกระทำนั้นเป็นความผิดขึ้นได้ คดีนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังได้ความว่า ถึงแม้จะไม่ผูกพันโจทก์ให้ยินยอมอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่โจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยออกเช็คโดยจะไม่ฟ้องเป็นความผิดอาญา เป็นความยินยอมที่มีอยู่จนถึงขณะที่จำเลยออกเช็คโดยรู้ว่าไม่มีเงินในธนาคารอันเป็นการกระทำโดยเจตนาที่เป็นองค์ความผิดประการหนึ่งซึ่งจำเลยได้กระทำลงตามความยินยอมของโจทก์ ความผิดในกรณีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถือได้ว่าความยินยอมของผู้เสียหายในการกระทำฐานนี้ ไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดีแต่ประการใดการกระทำที่โจทก์ฟ้องนั้นจึงไม่เป็นความผิดในทางอาญา พิพากษายืน

สรุป

การยอมความในความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคสอง และ39(2) นั้น เป็นการกระทำภายหลังที่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่การที่จะกระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิด ข้อตกลงล่วงหน้าก่อนมีการกระทำความผิดจะถือเป็นการยอมความตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้

บุคคลจะตกลงกันไว้ก่อนว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญา ถ้าหากจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้านั้น ข้อตกลงนั้นหามีผลก่อให้เกิดหนี้ที่จะผูกพันคู่กรณีให้จำต้องงดเว้นไม่ฟ้องคดีอาญาเช่นว่านั้นแต่ประการใดไม่ เพราะอำนาจฟ้องคดีอาญาจะมีอยู่หรือไม่นั้น มิได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายลักษณะหนี้ในทางแพ่ง หากอยู่ภายในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาอีกส่วนหนึ่ง

ข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้องคดีอาญานั้น อาจถือเป็นความยินยอมให้กระทำการที่ตามปกติต้องด้วยบทบัญญัติว่าเป็นความผิดได้มีหลักทั่วไปเป็นเหตุยกเว้นความผิดอาญาตามนัยฎีกาที่616/2482 และ 787/2483 ว่า ความยินยอมอันบริสุทธิ์ของผู้เสียหายให้ผู้ใดกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้น ถ้าความยินยอมนั้นไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรมอันดีและมีอยู่จนถึงขณะกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้นแล้ว ความยินยอมนั้นเป็นข้อยกเว้นมิให้การกระทำนั้นเป็นความผิดขึ้นได้

ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลย แม้ไม่ผูกพันโจทก์ให้ยินยอมอยู่เช่นนั้นตลอดไป แต่โจทก์ก็ได้ยินยอมให้จำเลยออกเช็คโดยจะไม่ฟ้องเป็นความผิดอาญา เป็นความยินยอมที่มีอยู่จนถึงขณะที่จำเลยออกเช็ค โดยรู้ว่าไม่มีเงินในธนาคาร อันเป็นการกระทำโดยเจตนาที่เป็นองค์ความผิดประการหนึ่งซึ่งจำเลยได้กระทำลงตามความยินยอมของโจทก์ ความผิดกรณีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถือได้ว่าความยินยอมของผู้เสียหายในการกระทำฐานนี้ไม่ขัดต่อความสำนึกในศีลธรรม การกระทำที่โจทก์ฟ้องจึงไม่เป็นความผิดในทางอาญา(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2508)


 

 

Facebook Comments