Home บทความคดีแพ่ง เช็คถูกแก้จำนวนเงิน มีความผิดทางอาญาหรือไม่

เช็คถูกแก้จำนวนเงิน มีความผิดทางอาญาหรือไม่

1533

เช็คถูกแก้จำนวนเงิน มีความผิดทางอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 343/2506

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาประตูน้ำ สั่งจ่ายเงิน ๓๓,๐๐๐ บาท ให้แก่นายกล้วยไม้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต ออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และโดยออกกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีจะพึงใช้ได้ในขณะที่ออกเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓, ๔

จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายไว้เพื่อประกันเงินกู้ ๓,๐๐๐ บาท เช็คนั้นจำเลยเขียนสั่งจ่ายเงินเพียง ๓,๐๐๐ บาท ในชั้นสอบสวน เจ้าพนักงานได้ส่งเช็คนั้นให้เจ้าหน้าที่กองวิทยาการกรมตำรวจพิสูจน์ลายมือแล้ว ปรากฏว่าเช็คฉบับนั้นมีรอยแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขและตัวหนังสือจาก ๓,๐๐๐ บาทท เป็น ๓๓,๐๐๐ บาท และลายมือที่แก้นั้นเป็นคนละลายมือกับของจำเลย เช็คฉบับดังกล่าวนี้จึงไม่มีผลเป็นตั๋วเงินตามมาตรา ๑๐๐๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาสั่งให้รับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งโจทก์ร่วมฎีกาว่า แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเช็คที่จำเลยออกให้นั้นมีการเพิ่มเติมตัวแลขและตัวอักษรว่าสามหมื่นลงไป แต่ก็ฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าจำเลยไม่มีเงินในธนาคารตั้งแต่วันออกเช็ค และในวันสั่งจ่ายเงินตามเช็คจนกระทั่งแม้วันที่จำเลยเบิกความ จำเลยก็ไม่มีเงินในธนาคารพอที่จะจ่ายแก่ผู้เสียหาย ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คนั้นแล้ว

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยออกเช็คฉบับพิพาทสั่งจ่ายเงินสดให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจำนวน ๓๓,๐๐๐ บาท แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า เช็คฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นได้ถูกเปลี่ยนแก้จำนวนเงินจาก ๓,๐๐๐ บาท มาเป็น ๓๓,๐๐๐ บาท และการเปลี่ยนแก้จำนวนเงินในเช็คนี้น่าเชื่อว่าเกิดจากฝ่ายผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมทำขึ้นเพื่อฉ้อโกงจำเลย เมื่อเป็นดังนี้แสดงว่าเช็คฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยความรู้เห็ฯของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ทรงเช็ค และโดยที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ออกเช็คและต้องรับผิดตามเช็คนั้นสมิได้ยินยอมด้วย เช็คฉบับที่โจทก์นำมาฟ้องนี้จึงเป็นเช็คที่เสียตามนัยแห่งมาตรา ๑๐๐๗ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยหาต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมตามเช็คนั้นไม่ ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงไม่มีความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 33,000 บาท ให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้ แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต ออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และโดยออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้ได้ในขณะที่ออกเช็ค ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3, 4 ศาลพิจารณาฟังข้อเท็จจริงว่าเช็คฉบับที่โจทก์ฟ้องนั้นได้ถูกเปลี่ยนแก้จำนวนเงินจาก 3,000 บาท มาเป็น 33,000 บาท และการเปลี่ยนแก้จำนวนเงินในเช็คนี้น่าเชื่อว่าเกิดจากผู้เสียหายเป็นผู้ทำขึ้นเพื่อฉ้อโกงจำเลย ดังนี้ เช็คที่โจทก์ฟ้องนั้นย่อมเป็นเช็คที่เสีย ตามนัยแห่งมาตรา 1007 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยหาต้องรับผิดต่อผู้เสียหายตามเช็คนั้นไม่ และจำเลยย่อมไม่มีความผิดดังที่โจทก์ฟ้องด้วย

Facebook Comments