นำเช็คไปเรียกเก็บเงินก่อนระยะเวลา ผิดอาญาหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2506
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเซ็นเช็คให้นายกาสะลอง โจทก์ร่วม ๗ ฉบับ เป็นเช็คเงินสดจ่ายให้แก่ผุ้ถือ เพื่อเป็นประกันเงินที่จำเลยกู้ไปจากนายกาสะลอง ขณะที่จำเลยออกเช็คนั้น นายกาสะลองก็ทราบว่าขณะนั้นจำเลยไม่มีเงินในธนาคารเลย โดยมีข้อตกลงกันว่าภายในกำหนดเวลา ๑ เดือนนั้น จำเลยจะต้องนำเงินไปเข้าบัญชีธนาคารเพื่อให้นายกาสะลองไปเบิกเงิน แต่นายกาสะลองกลับนำเอาเช็ค ๗ ฉบับนั้นทยอยไปขึ้นเงินที่ธนาคารเสียก่อนที่จะถึงกำหนด ๑ เดือนตามที่ตกลงกันไว้ (ธนาคารไม่จ่ายเงินโดยแจ้งให้ไปติดต่อผู้สั่งจ่าย คือจำเลย)
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า การออกเช็ค ๗ ฉบับนี้ ตามข้อเท็จจริงคู่กรณีต่างเข้าใจกันดีว่า จะบังคับการจ่ายเงินตามเช็คได้ก็ต่อเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๑ เดือนแล้วนับแต่วันออกเช็ค ฉะนั้น การที่นายกาสะลองไปจัดการบังคับให้มีการจ่ายเงินตามเช็คเสียก่อนพ้นกำหนด ๑ เดือน จึงเป็นการว่ากล่าวเอากับเช็คซึ่ยังอยู่ในระยะเวลาที่คู่กรณีไม่มีเจตนาจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยจึงยังไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
สรุป
จำเลยออกเช็คเงินสดให้แก่ ส. โดยส. ก็ทราบว่าขณะนั้นจำเลยไม่มีเงินในธนาคารเลย และมีข้อตกลงกันว่าภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นั้น จำเลยจะต้องนำเงินไปเข้าบัญชีธนาคารเพื่อให้ ส. ไปเบิกเงิน แต่ ส. กลับนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเสียก่อนพ้นกำหนดเวลา 1 เดือน ดังนี้ เป็นการว่ากล่าวเอากับเช็คซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาที่คู่กรณีไม่มีเจตนาจะให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น (แม้ธนาคารจะไม่จ่ายเงินเพราะจำเลยไม่มีเงินในธนาคาร หรือมีไม่พอจ่าย) จำเลยก็ยังไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3