Home บทความ ศาลฎีกา วางหลักเสนอสิ้นความผูกพันอย่างไร

ศาลฎีกา วางหลักเสนอสิ้นความผูกพันอย่างไร

856

ศาลฎีกา วางหลักเสนอสิ้นความผูกพันอย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3641/2532

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และนายมรกต เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี ต่อมานายมรกตถอนตัวไปโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าระบุว่าหลังจาก 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เช่าทั้งหมดให้แก่โจทก์ในราคา7,000,000 บาท โดยไม่ขายให้ผู้อื่น ต่อมาโจทก์ตกลงซื้อตามสัญญา และผ่อนชำระค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเงิน 744,500 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ยอมรับเงินค่าเช่าและบอกเลิกสัญญาเช่า และจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่สุจริตโดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นเครื่องแสดงเจตนาของจำเลย เมื่อจดทะเบียนโอนแล้วให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ หากการโอนที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยหรือเพิกถอนการโอนไม่ได้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 3,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ และนายมรกตเช่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเท่านั้น ข้อตกลงตามสัญญาเช่าไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์และนายมรกตปฏิเสธที่จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงสิ้นผล จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการโอน ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการชำระราคาที่ดินและค่าเสียหายเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่เสียหาย และมิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้วรับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยให้โอนที่ดินของจำเลยมาเป็นของโจทก์นั้น ราคาที่ดินย่อมเป็นทุนทรัพย์ คือเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลย เมื่อเป็นดังนี้คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่นางทองอบเบิกความต่อศาลชั้นต้นว่า สัญญาเช่าลงวันที่ 27มีนาคม 2520 ค่าเช่าเดือนละ 15,000 บาทนั้น ได้ขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 20,000 บาท เป็นกรณีที่จำเลยนำสืบแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์จำเลยมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องค่าเช่าตามสัญญาเช่าลงวันที่ 27 มีนาคม 2520 ที่นางทองอบเบิกความถึง จำเลยเพียงแต่นำสืบสัญญาเช่าดังกล่าวเพื่อเป็นการสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้เท่านั้น การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าลงวันที่ 27 มีนาคม 2520 ซึ่งระบุค่าเช่าไว้เดือนละ 15,000 บาท ว่าได้ขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 20,000 บาทจึงมิได้เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94แต่ประการใด และที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาเรียกสำนวนคดีหมายเลขที่ 5008/2526 คดีหมายเลขแดงที่ 17387/2527 และคดีหมายเลขดำที่ 14211/2526 คดีหมายเลขแดงที่ 16691/2528 มาประกอบการพิจารณาในคดีนี้ด้วยนั้น ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนคดีทั้งสองดังกล่าวประกอบการพิจารณาในคดีนี้แล้ว สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 1จะต้องปฏิบัติตามสัญญา ฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2521 ข้อ 12หรือไม่เพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อการเช่าครบ 1 ปีแล้วจำเลยที่ 1 ได้ถามโจทก์และนายมรกตผู้เช่าว่าประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เช่าหรือไม่ โจทก์และนายมรกตปฏิเสธว่าไม่รับซื้อ กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาเช่า เอกสารหมาย จ.29 ว่า “เว้นแต่ผู้เช่าจะไม่รับซื้อ”จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าจึงสิ้นความผูกพันที่จะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ให้เช่าแก่โจทก์ผู้เช่าตามคำเสนอ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีพันธะ ที่จะต้องโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาแล้ว ประเด็นตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์หรือไม่ และโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ขอให้บังคับจำเลยให้โอนที่ดินของจำเลยมาเป็นของโจทก์ราคาที่ดินย่อมเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท โจทก์จำเลยมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องค่าเช่าตามสัญญาเช่าจำเลยนำสืบสัญญาเช่าเป็นการสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยเท่านั้นการที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าเกี่ยวกับค่าเช่า จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 สัญญาเช่าระบุว่าหลังจาก 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาผู้ให้เช่าสัญญาว่าจะขายที่ดินพร้อมอาคารและทรัพย์ตามสัญญานี้แก่ผู้เช่าเว้นแต่ผู้เช่าจะไม่รับซื้อ เมื่อการเช่าครบ 1 ปี และผู้ให้เช่าถามผู้เช่าแล้ว ผู้เช่าปฏิเสธไม่รับซื้อ ผู้ให้เช่าจึงสิ้นความผูกพันที่จะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เช่าให้ผู้เช่าตามคำเสนอ

Facebook Comments