Home บทความคดีแพ่ง ความผิดตาม พรก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเองได้หรือไม่

ความผิดตาม พรก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเองได้หรือไม่

1959

ความผิดตาม พรก.กู้ยืมอันเป็นการฉ้อโกง ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีเองได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2530

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันฉ้อโกงโจทก์และประชาชนว่าจำเลยกับพวกประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ชักชวนให้เล่นแชร์น้ำมันในวงเงิน ๑๖๐,๕๐๐ บาท จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเดือนละ ๑๐,๒๐๐ บาท โจทก์หลงเชื่อได้เล่นแชร์กับจำเลยเป็นเงิน๑,๗๖๘,๕๐๐ บาท และมีประชาชนเล่นแชร์กับจำเลยอีกหลายพันล้านบาทต่อมาจำเลยกับพวกไม่คืนเงิน และไม่ยอมชำระดอกผลให้โจทก์และประชาชน และหลบหนีไป โจทก์และประชาชนได้รับความเสียหายการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการโฆษณาให้ปรากฏต่อประชาชนในการกู้ยืมเงิน และจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายจะพึงจ่ายได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอจะนำมาจ่ายให้ประชาชนได้ และเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการมุ่งหมายเพื่อฉ้อโกงประชาชนและเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๒๐๙, ๒๑๐, ๒๑๒, ๒๑๕, ๓๕๗, ๘๓, ๙๐, ๙๑ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๔, ๑๒

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะข้อหาฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และมั่วสุมหรือใช้กำลังกายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙, ๒๑๐, ๒๑๒ และ ๒๑๕ นั้นมิใช่กระทำโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดเป็นส่วนตัว รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องร้องจำเลยได้ ส่วนปัญหาที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่นั้นศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา ดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดนี้ ตามมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะของการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ และบัญญัติถึงการที่จะปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กับวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และรักษาความมั่งคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้เพื่อคุ้มครองประชาชนเป็นส่วนรวม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าวนั้นได้ทั้งนี้เพื่อให้กรณีเสร็จเด็ดขาดไปทันที ดังนั้นความผิดตามพระราชกำหนดนี้รัฐเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีได้

พิพากษายืน.

สรุป

ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน มิใช่กระทำโดยเฉพาะเจาะจงแก่บุคคลใดเป็นส่วนตัว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรง

พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญาดังจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดนี้ ตาม มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 7 และมาตรา 8 บัญญัติถึงวิธีการและลักษณะของการกู้ยืมในกรณีเช่นนี้ไว้ และบัญญัติถึงการที่จะปราบปรามการกระทำที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนกับวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้ เพื่อคุ้มครองประชาชนเป็นส่วนรวม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นมีอำนาจใช้มาตรการดังกล่าวนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อให้กรณีเสร็จเด็ดขาดไปทันทีดังนั้น ความผิดตามพระราชกำหนดนี้ รัฐเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีได้.

(วรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2530)

Facebook Comments