Home บทความคดีแพ่ง จุดที่ศาล ฎีกาวินิจฉัยความผิดในฐานหมิ่นประมาทด้วยวาจา

จุดที่ศาล ฎีกาวินิจฉัยความผิดในฐานหมิ่นประมาทด้วยวาจา

2034

จุดที่ศาล ฎีกาวินิจฉัยความผิดในฐานหมิ่นประมาทด้วยวาจา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3006/2530

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กล่าววาจาหมิ่นประมาทใส่ความนางเทียนหยด ผู้เสียหายต่อนายชมพู ฉกาจเกรียงไกร ซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่านางเทียนหยด ได้ร่วมกับผู้ชำระบัญชียักยอกที่ดินและโอนให้นางเทียนหยด และได้ฟ้องนางเทียนหยดตามที่ประกาศในหนังสือพิมพ์ เมื่อนางเทียนหยดขายที่ดินได้แล้วและโอนกันแล้วก็จะหอบเงินหนีไปเลย ประวัติของนางเทียนหยดไม่ดี ไม่เชื่อให้ถามบริษัทไฟแนนซ์ทั้งหลาย เพื่อให้นายชมพูเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนหลอกลวง ยักยอกและเป็นคนไม่ดี โดยประการที่น่าจะทำให้นางเทียนหยดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖

จำเลยให้การปฏิเสธ

นางเทียนหยด ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก ๑ เดือนปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา ๒๙, ๓๐

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้แนบเอกสารหมาย จ.๒ ซึ่งถอดข้อความมาจากแถบบันทึกเสียงหมาย จ.๓ มาท้ายฟ้อง ข้อความที่โจทก์บรรยายในฟ้องก็ไม่เหมือนกันที่เดียวกับเอกสารหมาย จ.๓ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) วรรคสอง บัญญัติว่า”ในคดีหมิ่นประมาทถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียน หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาทให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ หรือติดมาท้ายฟ้อง” โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้ว แม้จะมีข้อความในฟ้องไม่ตรงกับถ้อยคำในแถบบันทึกเสียงหมาย จ.๓ ทุกคำแต่ส่วนใหญ่ใจความตรงกัน และเมื่อเป็นการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำพูด มิใช่หมิ่นประมาทด้วยหนังสือ โจทก์จึงไม่ต้องแนบเอกสารที่ถอดข้อความจากแถบบันทึกเสียงติดมาท้ายฟ้อง ฟ้องของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา ๑๕๘(๕) วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความตามเอกสารหมาย จ.๒ นั้น จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ว่า ไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ร่วม และรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนั้นจำเลยไม่เห็นด้วย เพราะจำเลยให้การปฏิเสธย่อมครอบคลุมถึงการต่อสู้ว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่ได้ ทั้งปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ วรรคสอง บัญญัติว่า “อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ”เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยพูดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้คงอุทธรณ์ในข้ออื่นจึงเท่ากับจำเลยยอมรับว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ถูกต้องแล้ว

พิพากษายืน

สรุป

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียน หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ติดมาท้ายฟ้องนั้น เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวอันเป็นข้อสำคัญที่ทำให้เห็นว่า เป็นการหมิ่นประมาท ก็ย่อมเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่จำต้องแนบเอกสารที่ถอดข้อความจากเทปบันทึกเสียงติดมาท้ายฟ้องด้วย เพราะเป็นการหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำพูด มิใช่หมิ่นประมาทด้วยหนังสือ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสองบัญญัติว่า อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยพูดเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้คงอุทธรณ์ในข้ออื่นเท่ากับจำเลยยอมรับว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ถูกต้องแล้ว

Facebook Comments