ผู้ตายมีส่วนประมาท สามารถยกขึ้นอ้างเพื่อหลุดพ้นความรับผิดได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2546
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) และ ๑๕๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยขับรถยนต์ไปตามถนนบริเวณหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอนางรอง โดยขับรถมาจากทางด้านโรงเรียนเทศบาล ๑ (ทีโอเอ) มุ่งหน้าไปทางด้านถนนสายโชคชัย – เดชอุดม เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ รถยนต์คันที่จำเลยขับได้ชนประสานงากับรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีผู้ตายเป็นผู้ขับแล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ส่วนผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาหรือไม่? โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบเชื่อได้ว่าจำเลยได้ขับรถมายังที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูง จึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันในขณะที่เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวขวาเข้ามาในทางเดินรถเดียวกันเป็นเหตุให้ชนประสานงากับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย ซึ่งตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุระบุว่ารถจักรยานยนต์ของผู้ตายแล่นมาจากทางด้านหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอนางรองตัดข้ามทางเดินรถด้านทิศตะวัตกของเกาะกลางถนนแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุ แม้ผู้ตายจะมีส่วนประมาทที่ไม่ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายของตนหลังจากเลี้ยวขวาแล้วและไม่มองดูทางข้างหน้าให้ปลอดภัย ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปัดความรับผิดของจำเลยได้ ในเมื่อจำเลยเองก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วยที่ขับรถมาด้วยความเร็วสูงมายังบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีทางแยกดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล สำหรับความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้วินิจฉัยว่าโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานนี้ได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยขับรถโดยประมาทอ้างเหตุว่าจำเลยขับรถผิดช่องทางจราจรอันเป็นการฝ่าฝืนกฎจราจรประการเดียวโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทอ้างเหตุว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นมาด้วย ดังนั้น จึงต้องถือว่า ความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ดังนั้น แม้คดีจะได้ความว่า จำเลยขับรถโดยประมาทด้วยเหตุขับรถด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ศาลฎีกาก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะต้องพิพากษายกฟ้องความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ บทเดียว และให้ลงโทษปรับจำเลย ๑๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ส่วนโทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ถ้าจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ กับให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ และไม่ปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.
สรุป
จำเลยได้ขับขี่รถมายังที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูง จึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันในขณะที่เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวขวาเข้ามาในทางเดินรถเดียวกันเป็นเหตุให้ชนประสานงากับรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย แม้ผู้ตายจะมีส่วนประมาทที่ไม่ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายของตนหลังจากเลี้ยวขวาแล้วและไม่มองดูทางข้างหน้าให้ปลอดภัย ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปัดความรับผิดของจำเลยได้ในเมื่อจำเลยเองก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วยที่ขับรถมาด้วยความเร็วสูงมายังบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีทางแยก จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291
สำหรับความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , 157 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยว่าโจทก์เท่านั้นที่มีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจร้องขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานนี้ได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทอ้างเหตุว่าจำเลยขับรถผิดช่องทางจราจรอันเป็นการฝ่าฝืนกฎจราจรประการเดียวโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยขับรถโดยประมาทอ้างเหตุว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นมาด้วย จึงต้องถือว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ดังนั้น แม้คดีจะได้ความว่าจำเลยขับรถโดยประมาทด้วยเหตุขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ศาลฎีกาก็ไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , 157 ตามคำขอท้ายฟ้องได้ ชอบที่ศาลฎีกาจะต้องพิพากษายกฟ้องความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว