ยินยอมให้จับกุม และรับสารภาพ ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 29/2535
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงสร้อยคอทองคำ สร้อยข้อมือแหวน หยก และทรัพย์สินอื่นรวม 32 รายการ รวมราคา 38,820 บาทและเงินอีกจำนวนหนึ่งของนายทับทิม และนางดาหลาไป ในการชิงทรัพย์จำเลยทั้งสองใช้มีดปังตอและเหล็กแหลมก้านร่มเป็นอาวุธฟันแทงฆ่านายทับทิม นางดาหลา และเด็กชายฟ้าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยกระทำทารุณโหดร้ายเพื่อความสะดวก และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,339 วรรคสอง วรรคห้า, 91, 83คืนของกลางแก่ทายาทผู้ตาย ริบมีดปังตอกับเหล็กแหลมของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)(5)(6)(7), 339 วรรคสอง วรรคห้า,83 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามมาตรา 289(4)(5)(6)(7) วางโทษประหารชีวิต คืนทรัพย์ของกลางแก่ทายาทผู้ตาย และริบมีดปังตอกับเหล็กแหลมของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิด ข้อเท็จจริงได้ความจากคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.8 จ.9 ว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของนายมะม่วง กล๊อก กับนางดาหลาอังสนากุลหรือกล๊อก ซึ่งเป็นสามีภริยากันเปิดร้านอาหารชื่อ “ฮ่องกงการ์เด้นท์” ก่อนเกิดเหตุ นายมะม่วงได้ดุด่าว่ากล่าวลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานเป็นประจำโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เจ็บแค้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1ชิงทรัพย์และฆ่านายมะม่วงผู้ตายพร้อมภริยาและบุตร คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ดื่มสุราย้อมใจจนดึกและร้านอาหารปิดแล้ว จำเลยได้เข้าไปในร้ายอาหารผู้ตายซึ่งเป็นสถานที่ที่จำเลยทั้งสองพักผ่อนอยู่ที่หลังร้าน คันได้มีดปังตอสำหรับสับเป็ด 1 เล่ม และเหล็กก้านร่อมปลายแหลมที่อยู่ข้างอ่างเลี้ยงปลา 1 อัน ปีนหน้าต่างเข้าไปยังห้องที่นายมะม่วงและภริยากับบุตร 2 คน คือเด็กชายประดู่เริญอายุ 3 ปี และเด็กชายฟ้าอายุ 1 ปีนอนอยู่ จำเลยที่ 1 ได้ใช้มีดปังตอฟันคอและจำเลยที่ 2 ใช้เหล็กก้านร่มแทงนายมะม่วง นางดาหลาและบุตรทั้งสองของนายมะม่วงจนถึงแก่ความตายค้นเอาทรัพย์สินของกลางตามเอกสารหมาย จ.7 แล้วหลบหนีไป ต่อมาอีก 2-3 วันเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ พร้อมของกลางตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 ตามลำดับ ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ได้ถ่ายภาพไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.10 ดังนี้เห็นว่า เหตุที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากนายมะม่วงเคยดุด่าจำเลยที่ 2 ด้วยถ้อยคำรุนแรงสร้างความเจ็บแค้นแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งสองประสงค์ต่อทรัพย์สินจึงกระทำผิดขึ้นจำเลยที่ 1 เพิ่งอายุได้ 18 ปี ในขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองได้รับความกระทบกระเทือนกับปัญหาในครอบครัว บิดามารดาจำเลยที่ 1 หย่าร้างจำเลยที่ 1 อยู่กับมารดาซึ่งมีสามีใหม่และมีบุตรเกิดกับสามีใหม่ส่วนมารดาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายตั้งแต่จำเลยที่ 2 ยังเด็กอยู่บิดามีภริยาใหม่แล้วมีบุตรกับภริยาใหม่ ทั้งนี้ ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวนเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยทั้งสองยอมให้จับกุมแต่โดยดีและรับสารภาพโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุมสอบสวนจนถึงชั้นศาลทั้ง ๆ ที่ไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ ดังนี้ เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้แก่ศาลนับเป็นเหตุบรรทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 52(2) เหลือโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.
สรุป
เหตุที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ตายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองดุด่า จำเลยที่ 2 ด้วยถ้อยคำรุนแรงสร้างความเจ็บแค้นแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งสองประสงค์ต่อทรัพย์จึงกระทำผิดขึ้นจำเลยที่ 1 พึ่งอายุได้ 18 ปี ในขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองได้รับความกระทบกระเทือนกับปัญหาในครอบครัว บิดามารดาจำเลยที่ 1หย่าร้าง จำเลยที่ 1 อยู่กับมารดาซึ่งมีสามีใหม่และมีบุตรเกิดกับสามีใหม่ ส่วนมารดาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายตั้งแต่จำเลยที่ 2ยังเป็นเด็กบิดามีภริยาใหม่แล้วมีบุตรกับภริยาใหม่ ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสองยอมให้จับกุมแต่โดยดีและรับสารภาพโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลทั้ง ๆ ที่ไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78.