Home บทความคดีแพ่ง รับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

รับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

2716

รับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2513

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๑๐ เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาฆ่าด้วยการไตร่ตรองไว้ก่อน ใช้เหล็กขูดชาร์ปแทงนางนวลแขวัฒนรณชัย หลายที ด้วยการทารุณโหดร้าย และนางนวลแขถึงแก่ความตายและจำเลยยังได้แทงทำร้ายนางขาว ผู้เข้าขัดขวางจำเลยจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่ตำบลบางรัก อำเภอบางรัก จังหวัดพระนครขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙(๔) (๕),๒๙๗(๘) กับสั่งริบเหล็กขูดชาร์ปของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ แล้วยื่นคำให้การใหม่ว่า แทงโดยบันดาลโทสะ มิใช่ไตร่ตรองไว้ก่อน

พลตรีแตงโม สามีผู้ตาย ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๙๗(๘) ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘ที่เป็นกระทงหนัก ตามมาตรา ๙๑ วางโทษประหารชีวิต ลดโทษตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลยไว้ ๒๐ ปี ของกลางริบ

โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นการฆ่าโดยการทารุณโหดร้าย การรับสารภาพของจำเลยเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน ไม่เห็นสมควรลดโทษให้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๕), ๒๙๗(๘)ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙(๕) ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑ ให้ประหารชีวิต โดยไม่ลดโทษตามมาตรา ๗๘ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษและลดโทษดังศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ถ้าดูจากบาดแผลที่ปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์พยานอยู่ในชั้นหลังนี้กับปรากฏว่าจำเลยจ้วงแทงเอาแทงเอาโดยไม่ยับยั้งอะไรนั้น ก็เป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่สำแดงถึงการทารุณโหดร้ายได้จริง แต่การกระทำที่ว่าเป็นทารุณโหดร้ายตามมาตรา ๒๘๙(๕)นี้ มีข้อที่ควรจะได้พิจารณาถึงชีวิตจิตใจของผู้กระทำผิดในขณะที่กระทำนั้นด้วย ในเรื่องนี้ปรากฏว่าจำเลยนึกโกรธแค้นขึ้นมาจึงได้กระทำลงในขณะที่รู้แน่ชัดว่าผู้ตายดุด่าแล้วยังกำลังเขียนหนังสือเพื่อที่จะให้ตนออกจากงาน แม้จะปรากฏว่าจำเลยแทงผู้ตายหลายครั้ง และใช้เวลานานขนาดที่คนจะเข้าช่วยผู้ตายต้องกลับไปหาอาวุธมาสู้เสียก่อน แต่หาไม่ทันก็กลับเข้ามาแต่มือเปล่า พอคนที่จะช่วยร้องให้สติจำเลยว่า “เฮ้ยหยุด”จำเลยก็หยุดทันที และทิ้งมีดยอมให้คนมือเปล่าพาเอาตัวไปเป็นการตัวต่อตัว แม้แต่คนจับได้ถามว่าเรื่องอะไรกัน จำเลยก็งงจนไม่พูดอะไรได้นั้น แสดงว่าจำเลยแทงลงไปทีสองทีแล้วได้มีโทสะจริตคลุ้มคลั่งตามติดขึ้นมา จนขาดสติจึงได้กระทำแก่คนที่ไม่มีทางสู้ต่อไปถึงเช่นนั้น ต่อเมื่อมีคนมาตะโกนร้องให้สติทั้งที่จำเลยยังไม่น่าจะนึกกลัวคนนั้นอย่างไรจำเลยก็จะเลิกเสียทันที ดังนี้ จึงเห็นว่ายังไม่พอที่จะถือว่าจำเลยได้กระทำทารุณโหดร้าย การกระทำผิดของจำเลยไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๕) ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมา จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา ๒๘๘ ดังที่ศาลชั้นต้นวางบทลงโทษจำเลย

ในกรณีที่จำเลยขอให้ลดหย่อนผ่อนโทษเพราะจำเลยรับสารภาพผิดแต่โดยดี และโดยความสำนึกว่าตนผิดไปแล้วอย่างจริงใจนั้น เห็นว่าลักษณะของเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจักษ์แก่คนหมู่มากเช่นนี้ และยากแก่การที่จำเลยจะหลบหนีไปไหนพ้นนั้น แม้จำเลยจะไม่รับ คดีในที่สุดก็พอฟังว่าจำเลยกระทำผิดได้ ยังไม่เป็นเหตุพอถึงขนาดที่จะต้องลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แต่เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่จะได้คำนึงถึงการกำหนดโทษจำเลย

ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๙๗(๘) ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘ ที่เป็นกระทงหนักให้จำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิตเหล็กขูดชาร์ปของกลางริบ

Facebook Comments