Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ การวินิจฉัยค่าเสียหาย ในคดีละเมิดศาลต้องคำนึง ถึงรายได้ของผู้เสียหายหรือไม่

การวินิจฉัยค่าเสียหาย ในคดีละเมิดศาลต้องคำนึง ถึงรายได้ของผู้เสียหายหรือไม่

1597

การวินิจฉัยค่าเสียหายในคดีละเมิดศาลต้องคำนึงถึงรายได้ของผู้เสียหายหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2162/2532

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เบิกจ่ายไม่ได้ 8,957.50 บาท ค่าเปลี่ยนท่อปัสสาวะพร้อมถุงพลาสติก ครั้งละ 800 บาท ทุก 45 วัน ปีหนึ่งต้องเปลี่ยน 9 ครั้งเป็นเงินปีละ 7,200 บาท โจทก์คิดเพียง 20 ปี เป็นเงิน 144,000 บาทค่าที่โจทก์ได้รับอันตรายแก่กาย เสียอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่มีความรู้สึกทางเพศ ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ ต้องพิการไปตลอดชีวิต ต้องถือถุงปัสสาวะอยู่ตลอดเวลาเป็นที่อับอายแก่คนทั่วไป กับค่าเสียหายที่ได้รับความเจ็บปวด ทรมานจิตใจ รวม 350,000 บาท รวมค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินทั้งสิ้น 502,957.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินที่กล่าวแล้วพร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยทั้งห้าให้การว่า ที่เกิดเหตุขึ้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยโจทก์สมัครเข้ารับราชการตำรวจโดยรู้อยู่แล้วว่าต้องฝึกภาคสนามซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บได้ เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 20,000 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน430,957.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นนักเรียนพลตำรวจโรงเรียนตำรวจภูธร 4ในการฝึกชัยยะภาคปฏิบัติตามหลักสูตรของโรงเรียน จำเลยที่ 1 ทำให้ปืนประจำกายของจำเลยที่ 1 ลั่นขึ้น แรงระเบิดของกระสุนซ้อมรบเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ ท่อปัสสาวะแตก ต้องต่อท่อปัสสาวะมาออกทางหน้าท้องซึ่งจะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ 45 วัน นอกจากนี้แรงระเบิดของกระสุนซ้อมรบดังกล่าวยังทำให้ท่ออสุจิขาด โจทก์หมดความรู้สึกทางเพศและไม่สามารถสืบพันธุ์ได้

ที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาในข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบสิบตำรวจเอกเทียนหยด จำเลยที่ 3 พลฯบรรจง บุตรผลพลฯรัชตะ งามสงวน และพลฯวิบูลย์ ชำนิงาน พยานซึ่งอยู่ใกล้ชิดที่เกิดเหตุเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพยานเหล่านี้กับสิบตำรวจตรีมะเกลือ สิบตำรวจโทอัญชัน พยานที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 นำเข้าสืบแล้วกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นพยานคู่กันการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 จะนำพยานเหล่านี้เข้าสืบอีกจึงไม่จำเป็นและเป็นการฟุ่มเฟือยเพราะสืบไปก็ได้ความเหมือนกับที่จำเลยที่ 1กับพวกเบิกความมาแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การของสิบตำรวจโททับทิม์ พลฯบรรจง และพลฯรัชตะในสำนวนสอบสวนเพื่อพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ว่าพยานเหล่านี้ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แต่มารู้เห็นเมื่อเกิดเหตุแล้ว การที่จะสืบพยานเหล่านี้ไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 แต่ประการใด…

ข้อที่กรมตำรวจจำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 นั้น คดีฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนโรงเรียนพลตำรวจภูธร 4ของจำเลยที่ 5 ทางราชการกรมตำรวจมีคำสั่งบรรจุแต่งตั้งให้โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นพลตำรวจสำรอง การฝึกชัยยะของนักเรียนพลตำรวจเป็นไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 เพื่อวัตถุประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจเรื่องการใช้อาวุธต่อสู้ปราบปรามผู้ก่อการร้ายและรักษาความสงบภายใน กับเพิ่มพูนสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามนโยบายของจำเลยที่ 5 ดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 5 การฝึกชัยยะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะนักเรียนพลตำรวจตามคำสั่งและนโยบายของจำเลยที่ 5 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เกิดความเสียหายขึ้นก็เรียกได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในหน้าที่การงาน กรมตำรวจ จำเลยที่ 5 แม้ไม่ได้ร่วมทำละเมิดและมิได้เป็นลูกจ้างนายจ้างหรือตัวแทนดังที่ฎีกาก็จำต้องร่วมรับผิดเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นด้วยทั้งนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76

ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกาว่า ค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องเปลี่ยนท่อปัสสาวะพร้อมถุงพลาสติกและค่าสินไหมทดแทนกรณีโจทก์ต้องทนทุกข์เวทนาที่ต้องหิ้วถุงปัสสาวะไปตลอดชีวิต หมดความรู้สึกทางเพศและเสียความสามารถในการสืบพันธุ์ ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์สูงเกินสมควรเพราะไม่คำนึงถึงฐานะและรายได้ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ปืนในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ลั่นขึ้น และโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายซึ่งตามมาตรา 444 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไปกับเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 บัญญัติไว้ได้ การวินิจฉัยถึงค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายดังกล่าวไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องคำนึงถึงฐานะและรายได้ของผู้ต้องเสียหายด้วย ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในปัญหาที่กล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งจำนวนเงินที่กำหนดให้ก็มิได้สูงเกินสมควรดังที่ฎีกา…”

พิพากษายืน

สรุป

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยรวม 5 ปาก เพราะพยานเหล่านี้กับพยานที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 นำเข้าสืบแล้วกับตัวจำเลยที่ 1 เป็นพยานคู่กัน แม้สืบไปก็ได้ความเหมือนกับที่จำเลยที่ 1 กับพวกเบิกความมาแล้วทั้งได้ความจากสำนวนสอบสวนเพื่อพิจารณา ทัณฑ์ทางวินัยแก่จำเลยที่ 1ว่าพยานเหล่านี้ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แต่มารู้เห็นเมื่อเกิดเหตุแล้ว สืบไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี คำสั่งงดสืบพยานจึงชอบแล้ว.

โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนโรงเรียนพลตำรวจภูธร 4ของกรมตำรวจจำเลยที่ 5 การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 5 การฝึกชัยยะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในฐานะนักเรียนพลตำรวจตามคำสั่งและนโยบายของจำเลยที่ 5 เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เกิดความเสียหายขึ้นก็เรียกได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดในหน้าที่การงาน กรมตำรวจ จำเลยที่ 5 แม้ไม่ได้ร่วมทำละเมิดและมิได้เป็นลูกจ้างนายจ้างหรือตัวแทนก็จำต้องร่วมรับผิดเสียค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายนั้นด้วยตาม ป.พ.พ.มาตรา 76.

การที่ปืนในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ลั่นขึ้นและโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 444 โจทก์ชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไปกับเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามมาตรา 446 การวินิจฉัยถึงค่าใช้จ่ายและค่าเสียหายไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องคำนึงถึงฐานะและรายได้ของผู้เสียหายด้วย.

Facebook Comments