Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ ขับรถชนรถขายโรตี แล้วไม่หยุดช่วยเหลือต้องรับผิดตามพรบ.จราจรหรือไม่

ขับรถชนรถขายโรตี แล้วไม่หยุดช่วยเหลือต้องรับผิดตามพรบ.จราจรหรือไม่

1440

ขับรถชนรถขายโรตี แล้วไม่หยุดช่วยเหลือต้องรับผิดตามพรบ.จราจรหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4445/2543

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติบังกลาเทศ สัญชาติบังกลาเทศมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2538 โดยได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2539 แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยยังอยู่ต่อที่ตำบลดอยหล่อ กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยการอนุญาตสิ้นสุดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยเข็นรถเข็นไปตามถนนด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่จำเลยเข็นรถไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยเห็นอยู่แล้วว่าบริเวณดังกล่าวมืดและเป็นเวลากลางคืนจำเลยควรจะติดตั้งโคมไฟที่มีแสงสว่างเพียงพอไว้ที่รถเข็นของจำเลยเพื่อให้ผู้อื่นที่ขับรถตามหลังรถเข็นของจำเลยเห็นรถของจำเลยในระยะห่างพอสมควร และจะได้หลบหลีกรถเข็นของจำเลยได้อย่างปลอดภัย แต่จำเลยกลับติดตั้งดวงไฟดวงเล็กมีแสงสว่างเพียงเล็กน้อยไว้ที่หน้ารถเข็นไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้อื่นเห็นได้ในระยะห่างพอสมควรเป็นเหตุให้นายแคแสด ขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนเชียงใหม่ 7 ค – 0715 ตามหลังรถเข็นของจำเลยโดยไม่เห็นรถเข็นของจำเลยซึ่งเข็นอยู่ด้านหน้า รถของนายแคแสดจึงพุ่งชนท้ายรถเข็นของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของนายแคแสดล้มลงและได้รับความเสียหาย ส่วนนายแคแสดได้รับบาดเจ็บคอหักถึงแก่ความตาย ภายหลังจากที่จำเลยเข็นรถก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่บุคคลและทรัพย์สินของนายแคแสดผู้ตายแล้ว จำเลยหลบหนีไปไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81

 

จำเลยให้การรับสารภาพฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด ส่วนข้อหาอื่นปฏิเสธ

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 81 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 เรียงกระทงลงโทษ ฐานคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด จำคุก 2 เดือน ฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควรไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือนยกฟ้องข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

โจทก์อุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 อีกข้อหาหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

โจทก์ฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2539 เวลาประมาณ 19 นาฬิกาขณะจำเลยเข็นรถขายโรตีไปตามไหล่ทางถนนสายจอมทอง – เชียงใหม่ในเขตท้องที่ตำบลดอยหล่อ กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ได้เกิดเหตุถูกรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนเชียงใหม่ 7 ค – 0715 ซึ่งนายแคแสด ขับตามหลังมาเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับอันตรายแก่กายและนายแคแสดได้รับอันตรายคอหักถึงแก่ความตายจากนั้นจำเลยได้หลบหนีไม่ช่วยเหลือไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

 

ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวในมาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า “รถ” ไว้ว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถรางกับตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” และ “พาหนะ” ไว้ โดยคำว่า “ยาน”คือ เครื่องนำไปพาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า “พาหนะ”คือ เครื่องนำไป เครื่องขับขี่ ยานต่าง ๆ มีรถและเรือเป็นต้น เรียกว่ายานพาหนะกับกำหนดความหมายของคำว่า “ขับ” คือ บังคับให้เคลื่อนไปเช่น ขับรถ ขับเรือ ดังนี้จะเห็นได้ว่ารถเข็นของจำเลยเป็นเพียงวัสดุอุปกรณ์ และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ใช้ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงมิใช่ “รถ” ตามความหมายที่บัญญัตินิยามไว้ดังกล่าว และย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา 78 เช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 78, 160 ชอบแล้ว

 

พิพากษายืน

สรุป

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(15) บัญญัตินิยามคำว่า “รถ” ไว้ว่า ยานพาหนะทางบกทุกชนิด เว้นแต่รถไฟและรถรางทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 กำหนดความหมายของคำว่า “ยาน” คือ เครื่องนำไปพาหนะต่าง ๆ เช่น รถ เกวียน เรือ คำว่า “พาหนะ” คือ เครื่องนำไปเครื่องขับขี่ ยานต่าง ๆ มีรถและเรือเป็นต้น เรียกว่ายานพาหนะกับกำหนดความหมายของคำว่า “ขับ” คือ บังคับให้เคลื่อนไป เช่นขับรถ ขับเรือ ดังนี้ “รถเข็น” ของจำเลยเป็นเพียงวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพขายโรตี มิใช่ใช้ด้วยเจตนามุ่งประสงค์ในอันที่จะขนเคลื่อนบุคคลหรือทรัพย์สินใดจากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งในลักษณะของยานพาหนะ จึงมิใช่ “รถ”ตามความหมายที่บัญญัตินิยามไว้ดังกล่าว และย่อมไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 78

Facebook Comments