Home บทความ ตกลงกันว่าต้องจ่ายเงินเมื่อได้รับค่างวดจากผู้ว่าจ้าง สามารถทำได้หรือไม่

ตกลงกันว่าต้องจ่ายเงินเมื่อได้รับค่างวดจากผู้ว่าจ้าง สามารถทำได้หรือไม่

949

ตกลงกันว่าต้องจ่ายเงินเมื่อได้รับค่างวดจากผู้ว่าจ้าง สามารถทำได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2740/2532

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายรวม 17,458,599.71 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 16,592,594 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 จัดให้ธนาคารพาณิชย์ค้ำประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาร่วมงาน ในวงเงิน 21,872,430 บาทมีกำหนดเวลา 24 เดือน นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไปหากไม่ปฏิบัติตามให้บังคับให้จำเลยที่ 1 วางเงินจำนวน 21,872,430บาท ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อเป็นการค้ำประกันแทนสัญญาค้ำประกันและหากไม่ปฏิบัติตามก็ให้อายัดทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากบุคคลภายนอกเพื่อนำไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน14,220,727 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน (แต่ต้องไม่เกินวงเงินค้ำประกันจำนวน 21,872,430 บาท) คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกโจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาประการที่สองว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในการปฏิบัติตามสัญญาหมายจ.62 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.64 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับรองว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือปฏิบัติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งของสัญญาหมาย จ.62 ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินให้แก่โจทก์ คดีนี้ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือปฏิบัติผิดสัญญาข้อ 2.3ของสัญญาฉบับหมาย จ.62 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามสัญญาหมาย จ.64 แก่โจทก์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.64 ว่า ถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือปฏิบัติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งของสัญญาดังกล่าวซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับและ/หรือค่าเสียหายใด ๆจากจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 2 จะจ่ายเงินไม่เกิน 21,872,430 บาทให้แก่โจทก์ โดยสัญญามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2524จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2526 และศาลฎีกาได้วินิจฉัยในฎีกาข้อแรกของโจทก์แล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินจากจำเลยที่ 1 ได้ เพราะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ทั้งฟังได้ว่า การผิดสัญญาเกิดขึ้นก่อนวันที่21 มิถุนายน 2526 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ.64 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์ แต่ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินตามสัญญาเอกสารหมาย จ.62ให้แก่โจทก์ทันทีเมื่อได้รับเงินค่างวดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีพฤติการณ์ที่สามารถอนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์เมื่อใด ต้องคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับเงินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่ละงวด มิใช่คิดจากวันที่ 20 มิถุนายน2526 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้นั้นเห็นว่าตามสัญญาเอกสารหมาย จ.62 ข้อ 2.3 เพียงกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เมื่อรับเงินค่างวดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามจำนวนที่ตกลงกันไว้โดยทันที ซึ่งมิใช่กรณีที่ถือว่าได้มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยที่ 1 จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้คำเตือนจำเลยที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่ละงวด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไป

พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่โจทก์

สรุป

โจทก์กับจำเลยที่ 1 เพียงแต่ตกลงกันว่า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เมื่อรับเงินค่างวดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามจำนวนที่ตกลงกันไว้โดยทันที ถือว่ามิใช่กรณีที่มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยที่ 1 จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้คำเตือนจำเลยที่ 1หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่ละงวดจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

Facebook Comments