ใบแต่งทนายความไม่ได้ระบุสิทธิให้ยื่นอุทธรณ์ได้ ทนายลงชื่อในอุทธรณ์ศาลสั่งแก้ไขได้หรือไม่
คำถาม ใบแต่งทนายความมิได้ระบุให้ทนายความมีอำนาจยื่นอุทธรณ์ หาก ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๕๗/๒๕๖๔ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกา และกระบวนพิจารณาใดที่เป็นไป ในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความจึงต้องได้รับมอบอำนาจจากตัวความโดยชัดแจ้งทนายความ จึงจะมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวแทนตัวความได้ เมื่อตามใบแต่งทนายความ ที่จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งให้ อ. เป็นทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยที่ ๑ มิได้ระบุให้ อ.มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ ๑ อ. ย่อมไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ แทนจำเลยที่ ๑ ได้ การที่ อ. ลงชื่อเป็นผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และ ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้ทำแทน ได้และยื่นต่อศาลชั้นต้น เป็นคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำร้องและ คำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้จำเลยที่ แก้ไข ข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไข ข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้น จัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้จำเลยที่ ๑ ลงชื่อในฐานะผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลา อุทธรณ์ และลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงดำเนิน กระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวได้
มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา
โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดีฟ @lawyers.in.th