Home ทั้งหมด ฟ้องหย่า เรียกร้องอะไรได้อะไรบ้าง 

ฟ้องหย่า เรียกร้องอะไรได้อะไรบ้าง 

4763

ฟ้องหย่า เรียกร้องอะไรได้อะไรบ้าง 

  1. เรียกค่าเลี้ยงชีพ
  2. เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร
  3. เรียกค่าทดแทน กรณีเป็นเหตุหย่าบางเหตุ
  4. เรียกแบ่งสินสมรส

 ทีมงานทนายกฤษดาขออธิบายว่า ธรรมดาแล้ว หากฟ้องหย่าสามีหรือฟ้องหย่าภรรยา ด้วยสาเหตุว่าเป็นชู้หรือมีชู้ นอกจากจะสามารถฟ้องหย่าได้แล้ว

ยังสามารถฟ้องเรียก ค่าทดแทน ได้จากตัวสามีภรรยาคู่สมรส รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ที่เป็นเหตุหย่า ได้อีกด้วย

หรือหากเรายังไม่ต้องการฟ้องหย่า ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้แต่เพียงอย่างเดียวได้

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523

การเรียกค่าเลี้ยงดูบุตร 

ในเรื่องการฟ้องหย่า หากคู่สมรสมีบุตรด้วยกัน และบุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า

ฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรตามสมควรไปพร้อมกับการฟ้องหย่าได้ด้วย

ส่วนค่าเลี้ยงดูบุตร จะเรียกร้องได้เท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องๆไป

เรียกค่าเลี้ยงชีพ 

ถ้าเหตุหย่านั้นเกิดจากความความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ไปมีชู้ หรือละทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่า ย่อมมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย

ทั้งนี้สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้น คู่สมรสจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเข้าไปในคดีหย่าเท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟ้อง จะมาฟ้องหรือเรียกร้องภายหลังไม่ได้ ตามป.พ.พ. ม.1526

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น

ทั้งนี้หากคู่สมรสฝ่ายที่ได้รับค่าเลี้ยงชีพ จดทะเบียนสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นไปทันที ตาม ป.พ.พ.ม.1528

มาตรา 1528 ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป

เรียกแบ่งสินสมรส 

ในคดีฟ้องหย่า คู่สมรสสามารถฟ้องแบ่งหรือเรียกร้องให้แบ่งสินสมรสไปพร้อมกันในคราวเดียวกันเลย เพียงแต่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมตามทุนทรัพย์ที่ขอแบ่ง

ซึ่งธรรมดาแล้วในทุกคดีที่มีสินสมรสด้วยกัน เราก็นิยมจะฟ้องแบ่งสินสมรสเข้าไปพร้อมคดีหย่าอยู่แล้ว

 

การฟ้องหย่าสามีต่างชาติ หรือฟ้องหย่าภริยาต่างชาติ มีขั้นตอน กระบวนการ อย่างไร

การฟ้องหย่าชาวต่างชาติ ในกรณีที่เรามีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ หรือในกรณีที่คุณเป็นคนต่างชาติและต้องการฟ้องหย่าคู่สมรสชาวไทย มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนคล้ายกับการฟ้องหย่าคนไทยด้วยกันตามปกติ

แต่จะมีข้อกฎหมายและขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมมา ก็คือ

1.กฎหมายหย่าของประเทศคู่สมรส

พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ.2481 ม.24 วางหลักไว้ว่า  “ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า “

หมายความว่าในคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ หรือคดีที่ชาวต่างชาติฟ้องหย่าคนไทย หรือชาวต่างชาติฟ้องหย่ากันเอง ในศาลของประเทศไทย

โจทก์จะต้องนำสืบว่า กฎหมายของประเทศของสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศไทย

กล่าวคือจะต้องนำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ยอมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถฟ้องหย่า หรือหย่าขาดจากกันได้

ทั้งนี้เพราะในบางประเทศที่เคร่งศาสนามาก คู่สมรสหากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว จะไม่สามารถหย่าขาดกันได้เลย เช่นนี้ศาลไทยก็ไม่สามารถพิพากษาให้ทั้งสองฝ่ายสามารถให้ฟ้องหย่ากันได้

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในปัจจุบันแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างผ่อนปรนความเคร่งครัดทางศาสนา และอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาด หรือฟ้องหย่ากันได้อยู่แล้ว ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องกังวลข้อกฎหมายนี้แต่อย่างใด

ส่วนสาเหตุการหย่านั้น ให้พิจารณาตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่า คือตามกฎหมายแห่งประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปพิจารณาถึงเหตุฟ้องหย่าของกฎหมายต่างประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น

ตามกฎหมายของประเทศไทยหากคู่สมรสแยกกันอยู่กันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปีแล้วคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้

หากเราฟ้องหย่า คู่สมรสซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ แล้วตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ สมมุติว่าจะต้องแยกกันอยู่เกินกว่า 10 ปี  ถึงจะฟ้องหย่าได้

เช่นนี้การพิจารณาเหตุในการฟ้องหย่า ให้พิจารณาเฉพาะตามกฎหมายไทยเท่านั้นคือหากแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีก็สามารถฟ้องหย่าได้แล้วไม่ต้องรอถึง 10 ปี

ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557 ,  เป็นต้น

2.การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง 

การฟ้องหย่าคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ หากคู่สมรสนั้นยังพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย การฟ้องก็ไม่ต่างกับคดีทั่วไป

กล่าวคือการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ก็สามารถขอให้ศาลส่งให้ตามภูมิลำเนาของจำเลยในประเทศไทยได้เลย

แต่หากคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และเดินทางกลับประเทศของตนเองไปแล้ว ไม่ได้อยู่อาศัยในประเทศไทย และไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย

เช่นนี้อาจจะมีกระบวนการต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังต่างประเทศ ผ่านกระบวนการของศาลเป็นวิธีพิเศษ พร้อมต้องแปลคำฟ้องเป็นภาษาตามสัญชาติของคู่สมรสด้วย

ซึ่งกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปกติประมาณ 5,000 บาทเป็นค่าแปลและค่าจัดส่งเอกสาร และอาจจะใช้เวลาทำการมากกว่าคดีปกติประมาณ 1-2 เดือน

ค่าธรรมเนียมศาลเท่าไหร่ 

ธรรมดาแล้วคดีฟ้องหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราเพียง 200 บาทเท่านั้น

และนอกจากค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ก็ยังมีค่าธรรมเนียมการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้กับจำเลยซึ่งจะอยู่ประมาณ 500 ถึง 1,000 บาท  แล้วแต่ระยะทางใกล้ไกลตามประกาศของศาลแต่ละที่

รวมแล้วค่าธรรมเนียมศาลในคดีฟ้องหย่าอย่างเดียวจะตกไม่เกิน 2,000 บาท  ในกรณีไม่มีสินสมรส

ในกรณีมีสินสมรส ค่าธรรมเนียมศาลจะเป็นเท่าใดในคดีฟ้องหย่า

แต่หากมีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรส เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ค่าธรรมเนียมศาลก็จะเพิ่มขึ้นต่ำจำนวนเงินสินสมรสที่ต้องการฟ้องขอแบ่ง

ซึ่งธรรมดาแล้วหากยอดทุนทรัพย์ของสินสมรส ที่ฟ้องแบ่งไม่เกิน 300,000บาทก็จะเสียค่าธรรมเนียมศาลไม่เกิน 1,000 บาท

ยอดทุนทรัพย์ของสมรสที่ฟ้องแบ่งเกินกว่า 3 แสนบาท ก็จะเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ยื่นฟ้อง

ทั้งนี้จำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่เสียไปนั้น หากทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ศาลจะคืนให้เป็นจำนวน 7ใน 8 ส่วนของจำนวนเงินที่จ่ายไป

หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้มีการสืบพยานจนศาลตัดสินคดีไป  ก็มีโอกาสที่ศาลจะสั่งให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เราเสียไปให้กับเรา

หรือศาลอาจจะสั่งว่าค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คือให้เป็นตกไปทั้งสองฝ่ายไม่ต้องจ่ายให้กันและกัน

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายกฤษดา

โทร 089-142-7773 ไลน์ไอดี @lawyers.in.th

Facebook Comments