Home บทความคดีแพ่ง รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจ่ายได้ตั้งแต่แรก ผิดฉ้อโกงได้หรือไม่

รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจ่ายได้ตั้งแต่แรก ผิดฉ้อโกงได้หรือไม่

1157

รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถจ่ายได้ตั้งแต่แรก ผิดฉ้อโกงได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201-1203/2498

คดีสามสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

ในสำนวนที่ 1 มีข้อหาในคำฟ้องว่าจำเลยทั้ง 3 คนสมคบกันกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันคือ

1. จำเลยที่ 1, 2, 3 สมคบกันประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ตำบลบางนาค จังหวัดนราธิวาส โดยทำธุรกิจรับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งต้องจ่ายคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 50 ของเงินฝากเมื่อสิ้นระยะเวลา 1 เดือน และจำเลยนำเงินที่ได้รับฝากนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางจ่ายหมุนเวียนทางอื่น ได้มีประชาชนนำเงินไปฝากจำเลยและจำเลยจ่ายคืนไปบ้างแล้วยังคงค้างชำระอีก 10,115 รายเป็นเงิน 20,130,803 กับ 14,268 เหรียญมลายู ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามกฎหมาย

2. จำเลยที่ 1, 4 สมคบกันตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ตำบลสะเตงจังหวัดยะลา ในทำนองเดียวกับข้อ 1. ซึ่งจำเลยยังไม่ได้ใช้เงินคืน2,098 รายเป็นเงิน 4,150,181 บาท

3. จำเลยที่ 1, 5 สมคบกันตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ตำบลอะเนาะรูจังหวัดปัตตานี ในทำนองเดียวกับข้อ 1. ซึ่งจำเลยยังมิได้ใช้เงินอีก 1,277 ราย เป็นเงิน 1,843,480 บาท

4. จำเลยที่ 1 กับพวกตั้งธนาคารพาณิชย์ทำนองเดียวกับข้อ 1.ที่ตำบลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจำเลยยังไม่ได้ใช้เงินคืน 8 รายเป็นเงิน 5,500 บาท

5. จำเลยทั้ง 5 สมคบกันใช้อุบายหลอกลวงประชาชนและผู้เสียหายในคดีนี้โดยโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากธนาคารพาณิชย์ที่จำเลยตั้งขึ้นในข้อ 1-2-3-4 โดยจำเลยให้คำรับรองอันเป็นเท็จว่าจำเลยนำเงินนั้นไปหาประโยชน์ได้มากพอที่จะนำมาจ่ายเป็นดอกผลให้ผู้ฝากร้อยละ 50 ต่อเดือนอย่างแน่นอน แต่ความจริงจำเลยเอาเงินที่มีผู้นำมาฝากใหม่นั่นเองจ่ายหมุนเวียนเป็นดอกเบี้ยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถึงกำหนดถอนคืนโดยจำเลยมีเจตนาทุจริตหลอกลวงให้ประชาชนนำเงินมามอบให้จำเลยโดยจำเลยมีเจตนาว่าเมื่อมีผู้นำเงินมามอบเป็นจำนวนมากแล้ว จำเลยก็จะเอาเงินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย และได้มีผู้เสียหายนำเงินมามอบให้จำเลยที่จังหวัดนราธิวาส 194 คน เป็นเงิน 3,799,722 บาท กับ 1,590เหรียญมลายู ที่จังหวัดยะลา 15 คนเป็นเงิน 142,900 บาท ที่จังหวัดปัตตานี 18 คนเป็นเงิน 133,700 บาท จำเลยรับฝากแล้วเมื่อครบ 1 เดือนจำเลยไม่จ่ายคืนตามกำหนดโดยจำเลยเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นประโยชน์ของตนเสีย

ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษฐานไม่ทำบัญชีแสดงรายการรับและจำหน่ายน้ำตาลซึ่งมิใช่ความผิดส่วนละหุโทษหรือประมาทศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษาปรับ 50 บาท ตามสำนวนคดีแดงที่ 178/2489 พ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปี ขอให้ลงโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 304, 27, 63, 71, 72 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2488 มาตรา 4,5,30 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกะทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณะชน พ.ศ. 2471 มาตรา 7, 8 และพระราชบัญญัติกำหนดกระทรวง เจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณะชน พ.ศ. 2471 พ.ศ. 2476 มาตรา 4(2) ฯลฯ

ในสำนวนที่ 2 มีข้อหาว่านายองุ่น นายแก้ว สมคบกับจำเลยที่ 1, 2, 3 ในสำนวนแรกทำผิดในข้อหาอันเดียวกัน

ในสำนวนที่ 3 มีข้อหาว่า จำเลยทั้ง 7 คนในสองสำนวนแรกสมคบกันฉ้อโกงชนิดเดียวกับสำนวนที่ 1, 2 ฯลฯ

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดนายมะเดื่อ์จำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษจริงดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตคิดฉ้อโกงผู้เสียหายในคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 1 กะการจะฉ้อโกงผู้ใดและเมื่อไรในภายหน้านั้นไม่ได้เป็นปัญหาในคดีนี้ และข้อหาโจทก์ที่ว่าจำเลยประกอบการธนาคารพานิชย์โดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินั้น การกระทำของจำเลยหาใช่เป็นธนาคารไม่ พิพากษายกฟ้องของกลางคืนจำเลยที่ 1 เว้นแต่เงินซึ่งเจ้าพนักงานยึดจากนายน้ำเงินและนายมะเกลือให้คืนเจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1นั้นจะว่าไม่มีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายที่ร้องทุกข์หาได้ไม่เพราะได้ใช้อุบายหลอกลวงบุคคลไม่เลือกหน้าไม่เลือกเวลาอยู่แล้วชั่วแต่ถ้าเกิดอุปสรรคขัดขวางต่อกิจการของจำเลยที่ 1 ขึ้นเมื่อไรหรือจำเลยที่ 1 พอใจจะเลิกเสียเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นอันล้มเลิกกิจการ และบรรดาผู้ถูกหลอกลวงซึ่งจะไม่ได้รับเงินคืนก็คือผู้ที่ใบหุ้นของตนยังไม่ถึงกำหนดถอนคืนเมื่อล้ม แต่สำหรับจำเลยอื่น ๆ ได้ปฏิบัติการให้จำเลยที่ 1 ในฐานะคนงานและผู้ช่วยในกิจการของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีผิดเป็นตัวการฐานฉ้อโกงกับจำเลยที่ 1

ส่วนในข้อหาว่าผิดพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณะชน พ.ศ. 2471 นั้น จำเลยที่ 1 มีผิดตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่สำหรับจำเลยอื่นมีฐานะเสมอเป็นลูกจ้าง หามีความผิดด้วยไม่

ในข้อหาว่าจำเลยฝ่าฝืน พระราชบัญญัติธนาคารพานิชย์ พ.ศ. 2488 นั้น วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตามพระราชบัญญัตินี้

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 304,71 และ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณะชน มาตรา 7, 8 ให้จำคุก 10 ปี และให้ใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามบัญชีท้ายฟ้องบรรดาที่ได้ร้องทุกข์ส่วนคำขอที่ให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบนั้นหาได้ระบุว่าโทษครั้งก่อนเนื่องจากความผิดต่อกฎหมายใดไม่ และศาลเพียงปรับ 50 บาทอันอยู่ในอัตราความผิดที่เป็นลหุโทษจึงไม่เพิ่ม ฯลฯ ความอื่นนอกจากนี้คงยืน

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทุกคนเต็มตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 ตั้งสำนักงานขึ้นให้ชื่อว่าชัยวัฒนามีวัตถุประสงค์ทำการค้าและชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากเป็นการเข้าหุ้น แต่การเข้าหุ้นนี้จำเลยคิดผลประโยชน์ให้ร้อยละ 50 ต่อเดือนเป็นรายเดือน มีประชาชนหลายจังหวัดนำเงินมามอบให้จำเลยเป็นจำนวนมากมายหลายสิบล้านบาท เพราะหวังประโยชน์ตอบแทนอันสูง ข้อที่จำเลยแก้ว่าจำเลยนำเงินไปหมุนเวียนทำการค้ายานานาชนิดโดยเอากำไรมาแบ่งปันแก่ผู้ฝากหรือผู้ถือหุ้นนั้นไม่น่าเชื่อเพราะจำเลยมิได้มีบัญชีหรือหลักฐานอันใดแสดงให้เห็นเป็นเช่นนั้นและเมื่อคำนวนอัตราผลประโยชน์ร้อยละ 50 ต่อเดือนที่จำเลยเคยคิดให้แล้วในต้นเงินเพียงร้อยบาท ถ้าฝากจำเลยสมทบทั้งต้นและผลประโยชน์ในปีหนึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเป็นเงินหนึ่งหมื่นเศษถ้าถึงปีที่ 2 ก็เป็นจำนวนเกินล้านบาท ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยจะไปหาผลกำไรจากการค้าที่ไหนมาจ่ายแม้แต่จำเลยเองก็ว่าหุ้นส่วนมีกำไรเท่าใดไม่อาจรู้ได้ แต่กระนั้นจำเลยก็คงจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ฝากไปได้ เหตุที่จำเลยจ่ายเงินปันผลทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ามีกำไรเท่าใดนั้นย่อมประกอบให้เห็นเจตนาจำเลยในการลวงให้เขาหลวงเชื่อโดยแท้ ข้ออ้างจำเลยที่ว่าเพราะเจ้าพนักงานมาควบคุมให้กิจการชงักจึงไม่สามารถจ่ายเงินแก่ผู้ฝากนั้น ศาลฎีกากลับเห็นว่าถ้าเจ้าพนักงานไม่เข้าควบคุมแล้วก็อาจมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการนำเงินมาฝากจำเลยมากขึ้นทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนยิ่งขึ้น

การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อุบายเป็นทำนองว่าตนทำการค้าใหญ่โตให้เขานำเงินมาฝากเข้าเป็นหุ้นส่วน โดยสัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้เขาร้อยละ 50 ต่อเดือน ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็รู้ดีว่าไม่สามารถจะจ่ายให้เขาได้ จึงนับว่าเป็นความเท็จจนเขาหลงเชื่อนำเงินมาฝากมากมายเช่นนี้ ย่อมเข้าอยู่ในลักษณะความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 304

การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่ใช่ทำการเป็นธนาคารพาณิชย์และไม่มีสภาพคล้ายคลึงกับกิจการธนาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณะชน มาตรา 7 เพราะการกระทำไม่มีการออกเช็คหรือสั่งจ่ายเงินแต่อย่างใดระหว่างจำเลยกับผู้ฝากอันเป็นลักษณะของการธนาคาร เป็นการฝากเงินหรือเอาเงินมาเข้าหุ้นธนาคารเท่านั้น

ส่วนจะเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบได้หรือไม่นั้นเห็นว่าในฟ้องโจทก์กล่าวว่าก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษฐานไม่ทำบัญชีแสดงการรับและจำหน่ายน้ำตาลมาครั้งหนึ่ง ศาลพิพากษาปรับ 50 บาทดังปรากฏในคดีแดงที่ 178/2489 พ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปีจำเลยแถลงยอมรับว่าเคยต้องโทษจริงตามฟ้อง ตามรายงานลงวันที่ 8 กันยายน 2494ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องเพิ่มเติมว่าความผิดฐานไม่ทำบัญชีซึ่งจำเลยเคยต้องโทษนั้นเป็นความผิดซึ่งไม่ใช่เป็นส่วนลหุโทษและมิใช่ความผิดที่เกิดขึ้นด้วยความประมาท จำเลยไม่คัดค้านศาลอนุญาตและศาลฎีกาได้ตรวจดูสำนวนคดีแดงที่ 178/2489 แล้วปรากฏว่าศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีการซื้อน้ำตาล มาตรา 27 ที่บัญญัติให้มีโทษปรับไม่เกิน2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมิใช่ความผิดฐานลหุโทษ ฉะนั้นจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ 1 ใน 3 ตามกฎหมายอาญา มาตรา 72

ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยอื่นในฐานเป็นผู้สมรู้ด้วยจำเลยที่ 1 นั้นความข้อนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยเหล่านี้ได้ปฏิบัติการให้จำเลยที่ 1 ในฐานะคนงานและผู้ช่วยภายในกิจการของจำเลยเท่านั้น ไม่แน่ชัดว่าจะล่วงรู้ในอุบายของจำเลยที่ 1 ตลอด จึงไม่เอาผิด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลนี้จะรื้อฟื้นขึ้นวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้

พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปีตามกฎหมายอาญามาตรา 304, 71 เพิ่มโทษ 1 ใน 3 ตามมาตรา 32 แต่คำให้การของจำเลยมีประโยชน์ในการพิจารณาอยู่บ้างปราณีให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 เป็นอันไม่ต้องเพิ่มหรือลด ความอื่นนอกจากนี้คงพิพากษายืน

สรุป

จำเลยตั้งสำนักงานขึ้นให้ชื่อว่าบริษัทชัยวัฒนา มีวัตถุประสงค์ทำการค้าและชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาฝากเป็นการเข้าหุ้น แต่การเข้าหุ้นนี้จำเลยคิดผลประโยชน์ให้ร้อยละ 50 ต่อเดือนเป็นรายเดือน มีประชาชนหลายจังหวัดนำเงินมามอบให้จำเลยเป็นจำนวนมากมายหลายสิบล้านบาทเพราะหวังประโยชน์ตอบแทนอันสูง ดังนี้เมื่อคำนวณอัตราผลประโยชน์ร้อยละ 50 ต่อเดือนที่จำเลยคิดให้แล้วในต้นเงินเพียง100 บาท ถ้าฝากจำเลยสมทบทั้งต้นและผลประโยชน์ ในปีหนึ่งจำเลยจะต้องจ่ายเป็นเงินหนึ่งหมื่นเศษ ถ้าถึงปีที่ 2 ก็เป็นจำนวนเกินล้านบาท ซึ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยจะไปหาผลกำไรจากที่ไหนมาจ่ายให้ได้ แม้จำเลยเองก็ว่าหุ้นส่วนมีกำไรเท่าใดไม่อาจรู้ได้ แต่กระนั้นจำเลยก็ยังคงจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ฝากไปได้ เหตุที่จำเลยจ่ายเงินปันผลทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่ามีกำไรเท่าใดนั้น ย่อมประกอบให้เห็นเจตนาจำเลยในการลวงให้เขาหลงเชื่อโดยแท้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อุบายเป็นทำนองว่าตนทำการค้าใหญ่โตให้เขานำเงินมาฝากเข้าเป็นหุ้นส่วน โดยสัญญาจะจ่ายเงินปันผลให้ร้อยละ 50 ต่อเดือนทั้งๆ ที่ตนเองก็รู้ดีว่าไม่สามารถจะจ่ายให้เขาได้จึงนับว่าเป็นความเท็จและคนหลงเชื่อนำเงินมาฝากมากมายเช่นนี้ย่อมเข้าเกณฑ์ความผิดฐานฉ้อโกงตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 304 และการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติธนาคารพานิชย์ เพราะไม่ใช่ทำการเป็นธนาคารพานิชย์ และไม่มีสภาพคล้ายคลึงกับกิจการธนาคารตาม พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุขแห่งสาธารณะชน พ.ศ.2471 มาตรา 7

โจทก์กล่าวฟ้องว่าก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษฐานไม่ทำบัญชีแสดงรายการรับและจำหน่ายน้ำตาลมาครั้งหนึ่ง ศาลพิพากษาปรับ 50 บาท ดังปรากฏในคดีแดงที่ 178/2489 พ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปีจำเลยแถลงรับว่าเคยต้องโทษจริงตามฟ้อง แล้วโจทก์ขอเพิ่มเติมฟ้องว่าความผิดฐานไม่ทำบัญชีซึ่งจำเลยเคยต้องโทษนั้นเป็นความผิด ซึ่งไม่ใช่เป็นส่วนลหุโทษ และมิใช่ความผิดที่เกิดขึ้นด้วยประมาท ศาลสอบจำเลย จำเลยไม่คัดค้านศาลอนุญาตและปรากฏว่าในสำนวนเลขแดงที่ 178/2489 ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติภาษีการซื้อน้ำตาล มาตรา 26 ที่บัญญัติให้มีโทษปรับไม่เกิน 2000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน2 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมิใช่ความผิดฐานลหุโทษดังนี้แม้ในฟ้องจะมิได้ระบุว่าโทษครั้งก่อนเนื่องจากความผิดต่อ กฎหมาย ใดเลยก็เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบตามกฎหมายอาญา มาตรา 72 ตามฟ้องของโจทก์ได้

ถ้าคดีมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย นั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน

Facebook Comments