Home บทความ ข้อตกลงให้ชำระภายใน 45 วันไม่ชำระถือเป็นการผิดสัญญาหรือไม่

ข้อตกลงให้ชำระภายใน 45 วันไม่ชำระถือเป็นการผิดสัญญาหรือไม่

1014

ข้อตกลงให้ชำระภายใน 45 วันไม่ชำระถือเป็นการผิดสัญญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2545

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้ออะไหล่และอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำไปจากโจทก์ ครบกำหนดชำระค่าสินค้าแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 531,602.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 511,460 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

 

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ซื้อสินค้าพิพาทจากโจทก์ โจทก์คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 และวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ไม่ถูกต้องเพราะวันดังกล่าวจำเลยยังไม่ผิดนัดและโจทก์ไม่ได้ทวงถาม จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 511,460 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2345,400 บาท (ที่ถูกต้องเป็น 235,400 บาท)นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 13,241.25 บาท และจากต้นเงิน 276,060 บาท นับแต่วันที่ 17สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 6,901.50 บาท

 

จำเลยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

 

จำเลยฎีกา

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่าก่อนปี 2540 จำเลยเคยซื้อสินค้าประเภทอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำไปจากโจทก์มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้พนักงานของจำเลยคนใดเป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ในนามของจำเลย ทั้งการนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าพนักงานของจำเลยคนใดเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าพิพาททั้ง 2 ครั้ง รวมทั้งไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้แสดงออกเป็นที่ชัดเจนถึงการยอมรับเอาสินค้าจากโจทก์ไว้อันจะถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันต่อการสั่งซื้อสินค้า 2 รายการพิพาทตามฟ้อง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระราคาสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายกล้วยไม้ ผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์กับนางสาวสำรอง หัวหน้าแผนกการเงินและเร่งรัดหนี้สินของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 จำเลยสั่งซื้อสินค้าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำจากโจทก์ 2 รายการ เป็นเงิน 200,000 บาทเศษ และวันที่ 30 มิถุนายน 2540จำเลยสั่งซื้ออะไหล่และอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำจากโจทก์ 3 รายการ เป็นเงิน 200,000บาทเศษ มีข้อตกลงในการชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าแก่จำเลย นายกล้วยไม้เป็นผู้ส่งสินค้าตามที่จำเลยสั่งซื้อแก่จำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 ครั้งหลังเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 สินค้าครั้งแรกผู้รับสินค้าคือเจ้าหน้าที่คลังสินค้าของจำเลย และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ประทับตราของจำเลยไว้ ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 ส่วนสินค้าครั้งหลังเจ้าหน้าที่ของจำเลยลงลายมือชื่อรับสินค้าไว้ ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.5 และจำเลยได้แถลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2542 ว่าเกี่ยวกับสินค้าพิพาทจำเลยได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่ามีสินค้า 10 ชุด จำเลยส่งไปซ่อมที่โจทก์ และพบสินค้าอีก 11 ชุด อยู่ที่จำเลย แต่สินค้า 11 ชุดที่พบนี้จำเลยไม่ได้สั่งซื้อ ซึ่งเจือสมกับพยานโจทก์ว่าโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าพิพาทแก่จำเลย 2 ครั้ง ตามใบส่งเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 โดยสินค้าตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 มีใบสั่งซื้อ ส่วนสินค้าตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.5 นายชมพู กรรมการของจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อทางโทรศัพท์กับนายกล้วยไม้ ซึ่งตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุใบสั่งซื้อเลขที่ 048/2384 ตรงกับเลขที่ใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ.8 แม้การสั่งซื้อสินค้าพิพาทและการลงลายมือชื่อรับสินค้าจะถูกต้องตามระเบียบที่จำเลยกำหนดหรือไม่ก็ตาม แต่การที่สินค้าพิพาทอยู่ที่จำเลยและพฤติการณ์ที่จำเลยได้ส่งสินค้าพิพาทบางส่วนไปให้โจทก์ซ่อมแซมนั้น ถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันในการซื้อสินค้าพิพาทแล้วจำเลยจึงต้องชำระราคาสินค้าพิพาทแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด จำเลยจึงยังไม่ต้องชำระดอกเบี้ยฐานผิดนัดนั้น เห็นว่า มีข้อตกลงการชำระราคาสินค้าพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ว่าการชำระเงินต้องชำระภายใน 45 วัน นับแต่วันส่งมอบสินค้า เมื่อโจทก์ส่งมอบสินค้าครั้งแรกตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 ครั้งหลังตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.5 วันที่ 3 กรกฎาคม2540 จำเลยจึงต้องชำระราคาครั้งแรกในวันที่ 20 มีนาคม 2540 และครั้งหลังในวันที่17 สิงหาคม 2540 จึงเป็นหนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดโดยโจทก์มิพักต้องเตือนอีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ค้างชำระนับแต่วันครบกำหนด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

 

พิพากษายืน

สรุป

แม้การสั่งซื้อสินค้าพิพาทและการลงลายมือชื่อรับสินค้าของเจ้าหน้าที่คลังสินค้าของจำเลยจะถูกต้องตามระเบียบที่จำเลยกำหนดหรือไม่ก็ตาม แต่การที่สินค้าพิพาทอยู่ที่จำเลยและพฤติการณ์ที่จำเลยได้ส่งสินค้าพิพาทบางส่วนไปให้โจทก์ซ่อมแซม ถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันในการซื้อสินค้าพิพาทแล้ว จำเลยจึงต้องชำระราคาสินค้าพิพาทแก่โจทก์

ข้อตกลงการชำระราคาสินค้ามีว่าต้องชำระภายใน 45 วัน นับแต่วันส่งมอบสินค้า จึงเป็นหนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดโดยโจทก์มิพักต้องเตือนอีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ค้างชำระนับแต่วันครบกำหนด

Facebook Comments