Home บทความคดีแพ่ง มูลหนี้ที่ออกเช็คระงับ เช็คเด้งต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

มูลหนี้ที่ออกเช็คระงับ เช็คเด้งต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

2297

มูลหนี้ที่ออกเช็คระงับ เช็คเด้งต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2521

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ค ๒ ฉบับ สั่งจ่ายเงินชำระหนี้ให้โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าให้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายและเงินมีไม่พอจ่าย โดยจำเลยมีเจตนาออกเช็คสั่งจ่ายเงินมีจำนวนสูงกว่าเงินในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ในขณะออกเช็ค และออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดดังโจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยออกเช็ค ๒ ฉบับ ตามฟ้องชำระค่าซื้อโรงงานและเครื่องมือให้นายเทียนหอมกี่ หรือตันเม่งกี่ หรือซันเม็งจี่ ต่อมา นายเทียนหอมกี่สลักหลังเช็ค ๒ ฉบับ ดังกล่าวให้โจทก์ แล้วนายเทียนหอมกี่ผิดสัญญาไม่โอนโรงงานให้จำเลยแต่กลับโอนโรงงานดังกล่าวให้โจทก์เสีย จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและขอเช็คคืนจากนายเทียนหอมกี่ นายเทียนหอมกี่ว่าฉีกทั้งเสียแล้ว และลงชื่อในหนังสือรับรองว่าฉีกเช็ค ๒ ฉบับทิ้งแล้วไว้ให้ โจทก์นำเช็ค ๒ ฉบับไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ศาลฎีกาเห็นว่ามูลเหตุที่จำเลยออกเช็ค ๒ ฉบับตามฟ้องให้นายเทียนหอมกี่ เพราะนายเทียนหอมกี่ตกลงจะขายโรงงานให้แก่จำเลยดังที่ได้ทำสัญญากันไว้ เมื่อนายเทียนหอมกี่ผิดสัญญาไม่โอนโรงงานให้จำเลยและจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจึงเป็นอันระงับไป และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็ค ๒ ฉบับตามฟ้องให้แก่นายเทียนหอมกี่ และจำเลยเชื่อว่านายเทียนหอมกี่ไม่ได้โอนเช็คสองฉบับตามฟ้องให้แก่ผู้อื่น จำเลยเชื่อต่อไปว่าจะไม่มีผู้ใดนำเช็ค ๒ ฉบับตามฟ้องไปขึ้นเงินที่ธนาคาร จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินเข้าบัญชีในธนาคารให้มีจำนวนพอจ่ายตามเช็ค ๒ ฉบับตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอาญาดังโจทก์ฟ้อง เพราะจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ๒ ฉบับตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์

สรุป

จำเลยออกเช็คชำระค่าซื้อโรงงานและเครื่องมือให้ ต. ต่อมา ต. สลักหลังเช็คดังกล่าวให้โจทก์ แล้ว ต.ผิดสัญญาไม่โอนโรงงานให้จำเลย จำเลยบอกเลิกสัญญา และขอเช็คคืน ต. บอกว่าฉีกทิ้งแล้วและลงชื่อรับรองว่าฉีกทิ้งแล้วไว้ให้ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจากธนาคาร แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่าย ดังนี้ เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญากับต. แล้ว สัญญาจึงเป็นอันระงับไป และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่ ต. และจำเลยเชื่อต่อไปว่าจะไม่มีผู้ใดนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร จำเลยจึงไม่จำต้องนำเงินเข้าบัญชีในธนาคารให้มีจำนวนพอจ่ายตามเช็ค การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คไม่เป็นความผิดทางอาญา

Facebook Comments