Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ กลับรถ แล้วเลี้ยวขวาตัดหน้ารถอื่น อ้างเหตุสุดวิสัยไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่

กลับรถ แล้วเลี้ยวขวาตัดหน้ารถอื่น อ้างเหตุสุดวิสัยไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่

2506

กลับรถ แล้วเลี้ยวขวาตัดหน้ารถอื่น อ้างเหตุสุดวิสัยไม่ต้องรับผิดได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3557/2531

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 รวม 1 กระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก จำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือนและปรับ1,000 บาท รอการลงโทษจำคุก 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษและไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160อีกกระทงหนึ่งจำคุก 2 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือนสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ให้ลงโทษจำคุก1 เดือนสถานเดียวรวมจำคุก 2 เดือน โทษจำคุกให้เปลี่ยนเป็นกักขังตามมาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเพราะเหตุเกิดเพียงครั้งเดียวคราวเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยได้ขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ของนายเทาศิลป์ได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบด้วยมาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 อันเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 160 นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่แล้ว ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากกระทำครั้งแรก อันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78, 160 วรรคสองอีกกระทงหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า มีเหตุอันควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท นายจ้างของจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้รวมเป็นเงิน 13,190 บาท และได้ชดใช้ค่าเสียหายให้อีกเป็นเงิน 15,000 บาท แสดงว่าจำเลยได้สำนึกผิดในการกระทำของตนและพยายามบรรเทาผลร้ายตลอดมา ผู้เสียหายก็ไม่ติดใจที่จะว่ากล่าวเอาความกับจำเลยอีกต่อไป ทั้งจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงมีเหตุอันควรปรานีโดยรอการลงโทษให้แต่เห็นควรลงโทษปรับจำเลยด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 กระทงหนึ่งให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือนและปรับ 2,000 บาทและมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาทรวมเป็นโทษจำคุก 4 เดือนและปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน และปรับ2,000 บาท สำหรับโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

สรุป

การที่จำเลยขับรถเลี้ยวขวาตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายนั้น ถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4) ประกอบด้วยมาตรา 157 และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายสาหัสอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 อันเป็นบทหนัก เมื่อเกิดเหตุชนแล้ว จำเลยได้หลบหนีและไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้เสียหายได้ขับรถจักรยานยนต์ชนรถยนต์คันที่จำเลยเป็นผู้ขับขี่ตัดหน้าซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนาของจำเลยแยกต่างหากจากการกระทำครั้งแรกอันเป็นเรื่องต่างกรรม จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78,160 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง

Facebook Comments