Home บทความ สิทธิในการริบงานที่ว่าจ้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง

สิทธิในการริบงานที่ว่าจ้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง

1306

สิทธิในการริบงานที่ว่าจ้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไรบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2983/2541

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน26,380,080.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 23,851,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำการก่อสร้างล่าช้า จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างงานงวดที่ 6และ 7 เสร็จแล้ว แต่นายมะพร้าว ซึ่งเป็นนายช่างผู้ควบคุมงานของโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบงานความผิดจึงตกแก่นายช่างผู้ควบคุมงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาการบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน15,685,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าวันที่ 19 กันยายน 2531 โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารส่งเสริมบริการของโรงพยาบาลเลิดสิน เป็นเงิน53,200,000 บาท กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534ระหว่างก่อสร้างจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ขยายเวลา 4 ครั้งซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 ส่งมอบงาน5 งวด รับเงินไปแล้ว 14,151,200 บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสร้างจำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันที่ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 2,660,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้วนำงานที่เหลือไปทำสัญญาจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดกุยเฮงหลีก่อสร้าง(กำพจน์) ทำการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จเป็นเงิน 62,900,000 บาทตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.20 โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น23,851,200 บาท

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์ต้องนำเงินประกันจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันหักออกจากจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าแม้สัญญาข้อ 3 จะมีข้อความว่าผู้รับจ้างได้นำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคารมามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาก็ตาม แต่หนังสือค้ำประกันดังกล่าวมิใช่สิ่งซึ่งจะพึงริบเมื่อมีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของผู้วางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) ดังนั้นเงินจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์จึงมิใช่มัดจำแต่เป็นเงินประกันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า”ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้” เมื่อโจทก์ริบเบี้ยปรับแล้วต้องนำเบี้ยปรับที่ริบจำนวน 2,660,000 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพียง 21,191,200 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ค่าก่อสร้างงานงวดที่ 6 ที่ทำไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญาตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาข้อ 21จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าก่อสร้างส่วนนี้จากโจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องนำค่าก่อสร้างส่วนนี้จำนวน 5,532,800 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.8ข้อ 21 ความว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำมาใช้ ณ สถานที่ทำการจ้างนั้น โดยเฉพาะเพื่องานจ้างดังกล่าว ผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ ข้อตกลงนี้จึงมีลักษณะให้ถือเอาบรรดาผลงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นก่อนโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาอันเป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 382 แก่โจทก์ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับนี้ได้ตามมาตรา 381 วรรคแรก ซึ่งพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้ว่าจ้างกับผลงานและพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างที่ปฏิบัติตามเอกสารหมาย จ.23 แล้วเห็นว่า เบี้ยปรับดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว ดังนั้นผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำนั้นโจทก์ย่อมริบเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้โดยไม่จำต้องชดใช้ค่าผลงานงวดดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 ทำแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิจะเรียกค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับค่าผลงานที่ทำไปแล้วอีก ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าผลงานจำนวน 5,532,800 บาท และนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน21,191,200 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเป็นเงิน53,200,000 บาท จำเลยที่ 1 ส่งมอบงาน 5 งวด รับเงินไปแล้ว14,151,200 บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสร้าง จำเลยที่ 1ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันที่ธนาคารได้ส่งเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 2,660,000 บาท แต่หนังสือค้ำประกันมิใช่สิ่งซึ่งจะพึงริบ เมื่อมีการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(2) เงินจำนวน 2,660,000 บาท ที่ธนาคารส่งมอบให้แก่โจทก์จึงมิใช่มัดจำแต่เป็นเงินประกันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสองกำหนดว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นใน ฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ ริบเบี้ยปรับแล้วต้องนำเบี้ยปรับที่ริบจำนวน 2,660,000 บาท ไปหักออกจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการที่โจทก์ต้องไปจ้าง บุคคลภายนอก ให้ทำการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในราคา62,900,000 บาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพียง21,191,200 บาท การที่สัญญาจ้างระบุว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วบรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นผู้รับจ้างยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยผู้รับจ้างจะเรียกค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้นั้น เป็นการที่ผู้รับจ้างให้ สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งมิใช่จำนวนเงินให้ เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 โจทก์ย่อมมีสิทธิริบเบี้ยปรับนี้ได้ตามมาตรา 381 วรรคแรก เมื่อพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้ว่าจ้างกับผลงานและ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างที่ปฏิบัติมาตามสัญญา เห็นได้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวเป็นจำนวนพอสมควรแล้ว โจทก์ย่อม ริบผลงานที่จำเลยที่ 1 ทำเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนหรือค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวกับค่าผลงานที่ทำไปแล้วอีก

Facebook Comments