Home ความรู้ในการพัฒนาวิชาชีพทนายความ เกิดอุบัติเหตุ เพราะไม่ยอมให้รถที่ถึงสี่แยกผ่านไปก่อน ต้องรับผิดหรือไม่

เกิดอุบัติเหตุ เพราะไม่ยอมให้รถที่ถึงสี่แยกผ่านไปก่อน ต้องรับผิดหรือไม่

1932

เกิดอุบัติเหตุ เพราะไม่ยอมให้รถที่ถึงสี่แยกผ่านไปก่อน ต้องรับผิดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2530

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถมาตามถนนนครไชยศรีโดยประมาทกล่าวคือ เมื่อจำเลยขับรถมาถึงบริเวณสี่แยกถนนนครไชยศรีตัดกับถนนสวรรคโลกจำเลยไม่ชะลอความเร็วและหยุดรถ ให้รถที่เข้ามาในบริเวณสี่แยกและรถในบริเวณสี่แยกแล่นผ่านไปหมดแล้วจึงขับรถผ่านสี่แยกไป จำเลยได้ขับรถผ่านเข้าสี่แยกด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้ชนรถของ ป. ที่ผ่านเข้ามาในบริเวณสี่แยกได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า รถยนต์ของจำเลยและของ ป. ชนกันตรงบริเวณสี่แยกถนนสวรรคโลกและถนนนครไชยศรีตัดกัน ไม่มีสัญญาณไฟจราจรตรงบริเวณสี่แยกดังกล่าว.เมื่อพิเคราะห์แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.๑ แล้วเห็นได้ว่า ตามจุดที่เกิดเหตุแสดงอยู่ว่ารถยนต์เก๋ง (ของ ป.) แล่นเลยกึ่งกลางสี่แยกเกือบจะถึงฝั่งตรงข้ามแล้ว แสดงว่ารถยนต์เก๋งแล่นมาถึงทางแยกก่อน ชอบที่ฝ่ายจำเลยจะปล่อยให้รถยนต์เก๋งซึ่งถึงทางแยกก่อนผ่านไปก่อน โดยหยุดหรือชะลอรถของจำเลยไว้เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดอุบัติเหตุ แทนที่จะขับตรงไปจนเกิดเหตุคดีนี้ จากเหตุผลดังกล่าว ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยขับรถโดยประมาท ไม่ชะลอความเร็วของรถเพื่อให้เกิดความปลอดภัย จึงเกิดอุบัติเหตุในคดีนี้ขึ้น…

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

สรุป

สี่แยกที่เกิดเหตุไม่มีสัญญาณไฟจราจร และรถของจำเลยกับรถของ ป. แล่นมาคนละทางแล้วชนกันตรงบริเวณสี่แยก ปรากฏว่ารถของ ป. แล่นมาถึงสี่แยกก่อน จำเลยจึงจะต้องหยุดหรือชะลอรถของจำเลยแล้วปล่อยให้รถของ ป.ผ่านไปก่อน แต่จำเลยกลับขับรถต่อไปจนเกิดเหตุชนกันขึ้น ดังนี้ ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท

Facebook Comments