Home ทั้งหมด อัตราดอกเบี้ยที่แก้ไข เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

อัตราดอกเบี้ยที่แก้ไข เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

2443

อัตราดอกเบี้ยที่แก้ไข เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2564

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 , 362

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายส้ม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างและค่าแรงช่างรวมเป็นเงิน 358,706 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ศาลพิจารณากำหนดค่าเสียหายตามความเสียหายที่แท้จริง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 , 362 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือนและปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 , 30 กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันยื่นคำร้อง (ยื่นคำร้องวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องชนะคดี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยและนางมะเดื่อ ภริยา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10070 ตำบลท้ายทุ่ง อำเภอทับคล้อจังหวัดพิจิตร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 73 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 248 ซึ่งปลูกอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดิน ผู้ร้องเป็นพี่นางมะเดื่อ พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 247 ซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดิน ตามสำเนาโฉนดที่ดินและแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เมื่อปี 2559 จำเลยถมดินและสร้างบ้านเลขที่ 248 ขึ้นใหม่ ทำให้บ้านของผู้ร้องอยู่ในระดับต่ำ จำเลยจึงช่วยสร้างบ้านให้ผู้ร้องใหม่ โดยรื้อบ้านหลังเดิมออกและสร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิมหลังจากจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน จำเลยพาผู้ใหญ่บ้านมาพบผู้ร้องและทำบันทึกตกลงว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิทุกอย่างในที่ดินตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยรื้อบ้านของผู้ร้องออกทั้งหลังตามภาพถ่ายบ้านพิพาทหมาย จ.4 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน คดีในส่วนอาญาจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยฎีกาว่าจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการปลูกสร้างบ้าน จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยมิใช่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องในฐานะผู้อาศัยใช้สิทธิไม่สุจริตบุกรุกสร้างบ้านและสิ่งก่อสร้างในที่ดินของจำเลยปิดทางเข้าออกของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจรื้อถอนบ้านและสิ่งก่อสร้างดังกล่าวซึ่งก่อสร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยได้ อันเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ การกระทำของจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์นั้นล้วนเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงความเสียหายว่ามีอยู่จริงนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาได้ความว่า จำเลยเข้าไปกระทำการใด อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องโดยปกติสุข และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์ของผู้ร้อง จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฉะนั้น คดีส่วนแพ่งนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ร้อง ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องไม่ได้นำสืบหรือพิสูจน์ได้ถึงความเสียหายนั้น ทั้งค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นก็เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชำระอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำร้อง (ยื่นคำร้องวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง โดยให้ปรับเปลี่ยนได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ และยกฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

สรุป

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาได้ความว่า จำเลยเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้ร้องโดยปกติสุข และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งบ้านพิพาทอันเป็นทรัพย์ของผู้ร้อง จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ฉะนั้น คดีส่วนแพ่งนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้ร้อง ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทน มีให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องไม่ได้นำสืบหรือพิสูจน์ได้ถึงความเสียหายนั้น

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งวันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาดังนี้ เมื่อปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และ ป.วิ.อ.มาตรา 40

Facebook Comments