อายุความในคดีความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2532
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 และ 13 มกราคม 2528 เวลากลางวัน จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ มีข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง วันที่ 14 มกราคม 2528 เวลากลางวันหนังสือพิมพ์ได้ลงพิมพ์โฆษณาและลงข้อความตามที่จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ทั่วไป โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2528 โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงตามกฎหมายแล้วขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 91ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน5 ฉบับ มีกำหนด 7 วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท คู่ความจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ศาลฎีกาจักได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์และจำเลยเรียงลำดับไป โจทก์ฎีกาข้อ 2 (ก) ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา โดยจำเลยให้สัมภาษณ์ข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ต่อนายทับทิม โดยจำเลยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้สื่อข่าวจะต้องนำเอาข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เมื่อหนังสือพิมพ์ลงพิมพ์ข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดอย่างไรหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยจะมีความผิดตามบทมาตราใด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อนี้อธิบดีกรมอัยการมิได้รับรองให้ฎีกามา ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
คงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เฉพาะข้อ 2 (ข) ซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาว่า สมควรสั่งให้จำเลยลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเพียงแต่ให้สัมภาษณ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ส่งข้อความนั้นไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เพียงฉบับเดียว การโฆษณาข่าวซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำของหนังสือพิมพ์แต่ฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ดังนี้ยังไม่สมควรที่จะให้จำเลยต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาคำพิพากษาของศาลลงในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์ขอมา ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยข้อ 2.1 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 โจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งเกินกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันกระทำผิดและโจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2528 เป็นเวลาเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันกระทำความผิด คดีของ โจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528จำเลยได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528 เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับดังกล่าวเห้นว่าอายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ การที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ 14 มกราคม 2528 ลงข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ย่อมต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้วแม้โจทก์จะนำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่โจทก์ก็นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95ดังนี้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยข้อ 2.2 ที่ว่า จากคำเบิกความของนายทับทิมพยานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ตามข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์แต่เป็นข้อความที่เกิดจากการพูดคุยกันระหว่างจำเลยกับผู้สื่อข่าว โดยจำเลยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการเฉพาะเจาะจงนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและที่จำเลยฎีกาอีกว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนว่าจำเลยได้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ และแม้จะฟังว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าวจริงก็เป็นการกระทำเพื่อป้องกันความเสียหายของจำเลย ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกเช่นกันจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน
สรุป
อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ.